"Abbey Road Medley" อันลือลั่นเริ่มต้นที่เพลงนี้ และที่ 'inception' เข้าไปอีกก็คือตัวเพลง You Never Give Me Your Money ก็ประกอบไปด้วย fragments ย่อยๆอีกห้าหรือหกส่วน อาจกล่าวได้ว่ามันก็เป็นเมดเลย์ในตัวของมันเองด้วย ไอเดียในการทำเมดเลย์นี้อาจจะเริ่มมาตั้งแต่การบันทึกเสียงเซสชั่นแรกที่ Olympic Sound Studios ในตอนต้นเดือนพฤษภาคม จอร์จ มาร์ตินแนะนำให้พอลลองคิดอะไรแบบ"ซิมโฟนิก"ดู (แทนที่จะแต่งเป็นเพลงๆเหมือนที่เคยทำ) และจากนั้นพอลกับจอห์นก็เริ่มเอาเพลงที่แต่งไม่เสร็จค้างไว้ของพวกเขามาเชื่อมโยงกัน พอลกล่าวไว้ว่า "ผมคิดว่ามันเป็นไอเดียของผมในการที่จะเอาเพลงเล็กๆน้อยๆเหล่านั้นมาต่อกัน แต่ผมก็ไม่อยากเคลมว่ามันเป็นความคิดของผมคนเดียว ผมแฮปปี้นะ ถ้าจะบอกว่ามันเป็นไอเดียของทุกๆคน" ริงโก้ระลึกได้ว่าจอห์นกับพอลนั่งเอาเพลงมาเรียบเรียงกันเป็นเมดเลย์ "พวกเขาทำงานหนักในการต่อเพลง แต่พวกเขาไม่ได้นั่งเขียนเพลงด้วยกันเหมือนเดิมอีกแล้ว" ส่วนจอห์นทิ้งวาทะไว้ว่า "ผมมีเพลงที่แต่งค้างไว้ตั้งแต่สมัย Sgt. Pepper.... นี่เป็นโอกาสอันดีงามที่จะขจัดเศษเพลงเหล่านั้น"
ในการทำเมดเลย์นี้ผู้ที่เป็นกัปตันทีมคือพอลและมาร์ติน จอร์จ และ ริงโก้คอยช่วยเหลือบ้างในการแต่งเติมเสียงร้องและดนตรี ส่วนจอห์นบรรยายบรรยากาศให้เราเห็นภาพว่า "อ้า นั่นเรามีที่ว่างเหลืออยู่ 12 บาร์ เติมให้เต็มหน่อยซิ และเราก็เติมกันแบบหน้างานตรงนั้นเลย" อย่างไรก็ตาม มาร์ตินจำได้ดีว่าสุดท้ายแล้วจอห์นไม่ชอบเมดเลย์นี้ เขาคิดว่ามันไม่ร็อคพอ การบันทึกเสียงเมดเลย์เต็มไปด้วยความยากลำบาก จอร์จกล่าวหลังจากเสร็จงานว่า "ในที่สุดเราก็เล่นดนตรีเหมือนกับเป็นนักดนตรีจริงๆอีกครั้ง"
พอลเริ่มเขียน You Never Give Me Your Money ในนิวยอร์ค, ตุลาคม 1968 เนื้อหาท่อนแรกของมันนั้นพอลบอกว่ามันเป็นการวิพากษ์ Allen Klein โดยตรง เมื่อ Allen มาทำหน้าที่ผู้จัดการวง พวกเขาแทบไม่ได้เห็นตัวเงินจริงๆเลย มีแต่ตัวเลขในกระดาษ (funny paper) (ตรงนี้ถ้าไล่เวลาดูดีๆอาจจะน่าสงสัยว่ามันจะเกี่ยวกับ Klein จริงๆหรือ) ส่วนเนื้อหาในท่อนต่อมา คืออารมณ์ถวิลหาอดีตของคนหนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบและมีอิสระที่จะใช้เงินอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการท่องเที่ยวไปโดยไร้การวางแผน อย่างที่พอลชอบทำกับลินดา (ธีมนี้อยู่ในเพลง Two of Us ด้วย)
ไคลแมกซ์ของเพลงอยู่ในช่วงท้ายเพลงที่ประหนึ่งบทสวดซ้ำๆ One two three four five six seven, all good children go to heaven แบ็คอัพโดยเสียงกีต้าร์สวยๆจากจอห์นที่ภายหลังจะถูกนำมาใช้อีกครั้งในการเชื่อมเพลง Carry That Weight กับ The End
พวกเขาเริ่มงานในเพลง You Never Give Me Your Money ในวันที่ 6 พ.ค. 1969 ที่ Olympic Sound Studios ในลอนดอน เบสิกแทร็คประกอบไปด้วย พอลเล่นเปียโนและร้องไกด์ จอห์นเล่นกีต้าร์เสียงแตกพร่า จอร์จเล่นเบสเฟนเดอร์หกสาย และกีต้าร์ตัวที่สองที่ส่งผ่านลำโพงเลสลีย์ ริงโก้ตีกลองตามปกติ วันนั้นพวกเขาเล่นกันไป 36 เทค โดยเทคที่ 30 คือเทคที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้เพลงจบลงแบบห้วนๆ ยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะต่อกับเพลง Sun King อย่างไรดี
1 กรกฎาคม The Beatles กลับมาหาเพลงนี้อีกครั้ง คราวนี้เป็นที่ Abbey Road ความจริงวันนี้มีพอลคนเดียว ที่มาอัดเสียงร้องนำ, 10 วันต่อมาพอลดอดมาบันทึกเสียงเบสลงไปและในวันที่ 15 ก.ค. สี่เต่าทองมากันครบทีม พวกเขาเพิ่มเสียงร้อง, tambourine และ chimes เข้าไปในบทเพลง The Beatles ยังพยายามร้องแบ็คอัพในท่อน 'out of college' ในเพลงนี้ แต่สุดท้ายก็เลิกราไป
30 ก.ค. The Beatles รวมตัวมานั่งฟังซีเควนซ์ในเมดเลย์ (ตอนนั้นมีชื่อเล่นว่า The Long One / Huge Melody) กันในห้องคอนโทรล เพลงส่วนใหญ่เชื่อมต่อกันได้อย่างไร้ที่ติ เว้นแต่ปัญหาสองจุด พอลตัดสินใจที่จะประหาร Her Majesty ทิ้งไปอย่างถาวร และเขาไม่แฮปปี้กับการต่อเพลง You Never Give Me Your Money เข้าสู่เพลง Sun King ซึ่งตอนนั้นใช้การเชื่อมด้วยเสียงโน้ตตัวเดียวจากออร์แกนลากยาว วันต่อมามีการเพิ่มเสียงเบสและฮองกี้ทองค์เปียโนในช่วง 'out of college' (1:10 ถึง 1:31) พอลเป็นคนเล่นเปียโนนี้ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นแกรนด์เปียโนสไตน์เวย์แต่ใช้ลูกเล่นในการปรับสปีดให้ฟังเหมือน honky-tonk piano
5 สิงหาคม พอลเดินเข้า Abbey Road หิ้วถุงพลาสติกที่เต็มไปด้วยเทปที่เขา"สร้าง" มาจากบ้าน เขาควักม้วนที่มีเสียงคล้ายๆกับ "ระฆัง, ฟองอากาศ และจิ้งหรีดหริ่งระงม" ออกมา (พอลเคยใช้มุกนี้มาครั้งหนึ่งแล้วในปี 1966 ตอนเตรียมซาวด์พิลึกๆให้เพลง Tomorrow Never Knows) ในที่สุดพอลก็หาวิธีเชื่อมต่อ You Never Give Me Your Money เข้าสู่ Sun King ได้อย่างงดงามประทับใจ เป็นการ cross-fade ที่ทำได้เสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 21 สิงหาคม 1969
No comments:
Post a Comment