Tuesday, 2 July 2019

Here Comes The Sun


1969 เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับ The Beatles ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายและธุรกิจที่เห็นไม่ตรงกัน, ความล้มเหลวของ Get Back project และการแทรกตัวเข้ามาอยู่กลางวงตลอดเวลาของผู้หญิงนาม Yoko Ono เหล่านี้ล้วนสั่นคลอนความมั่นคงของวงดนตรีที่กำลังอ่อนล้าอยู่แล้ววงนี้ สมาชิกทุกคนดูจะพยายามหาทางออกและความเป็นส่วนตัว จอร์จ แฮริสัน ดูจะต้องการสิ่งนั้นเป็นพิเศษ เขาเบื่อหน่ายเต็มทนกับเรื่องทางธุรกิจเหล่านี้
เช้าวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ จอร์จ แฮริสัน เริ่มต้นแต่งเพลง 'Here Comes The Sun" ขณะไปเที่ยวบ้าน Eric Clapton เพื่อนรักที่ Huntwood Edge, Surrey เอริคเล่าว่า "เรานั่งเล่นกันอยู่ในสวน มีกีต้าร์คนละตัวในมือ และก็ดีดอะไรเล่นกันไปเรื่อยๆ จู่ๆจอร์จก็เริ่มร้อง de da de de, it's been a long cold lonely winter และทีละเล็กละน้อย เขาก็แต่งมันขึ้นมาสดๆ เผลอแป๊บเดียวก็ได้เวลาข้าวเที่ยงแล้ว"
ตุลาคม 1969 จอร์จบอกเล่าแก่ David Wigg "เบื้องหลังของเพลงนี้ มันก็เหมือนกับที่พอลเขียน 'You Never Give Me Your Money' นั่นเอง คุณจะเขียนถึงเรื่องที่รบกวนและมีอิทธิพลแก่คุณในขณะนั้น สำหรับเพลงนั้นของพอล ผมคิดว่ามันก็คือเรื่องเงินๆทองๆที่เราต้องวุ่นวายกับมัน ส่วน 'Here Comes The Sun' ก็มาในช่วงนั้น ชีวิตเราเต็มไปด้วยการประชุมและต้องเจอะเจอกับนักกฎหมาย นายธนาคาร มีแต่เรื่องสัญญายุ่บยั่บ และมันก็เป็นอะไรที่ห่วยแตก เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เราเอ็นจอยเอาซะเลย จนวันหนึ่ง ผมก็โดดออฟฟิศเอาดื้อๆ เหมือนเด็กโดดเรียน ผมแว่บไปที่บ้านเพื่อนคนหนึ่งแถบชานเมือง (ก็บ้านแคลปตันนั่นแหละ) และวันนั้นมันก็ช่างสดใส ทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากความกดดันที่ทับถมลงบนตัวผมมาตลอด แสงแดดเจิดจ้าสดชื่นเหลือเกิน ผมหยิบกีต้าร์ขึ้นมา ผมไม่ได้เล่นมันมาสองอาทิตย์แล้วเพราะมัวแต่ยุ่งกับเรื่องธุรกิจบ้านี่ และสิ่งแรกที่ออกมาจากกีต้าร์ก็คือเพลงนี้ มันมาดื้อๆซะอย่างงั้น ผมแต่งมันเสร็จเรียบร้อยตอนไปเที่ยวพักผ่อนที่ Sardinia ในเวลาต่อมา"
จอร์จแต่งเพลงนี้เสร็จเรียบร้อยหลังวันที่ 1 มิ.ย. ไม่นานขณะไปเที่ยว Sardinia กับ Terry Doran (ภรรยาของเขา Pattie และ Klaus Voormann ตามไปสมทบทีหลัง) 'Here Comes The Sun' คือมาสเตอร์พีซอีกชิ้นหนึ่งของจอร์จ ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำหรือดนตรี มันช่างเปล่งปลั่งสุกสว่าง ในระดับใกล้เคียงกับ 'Something' นีคือข้อพิสูจน์ว่าเขาแต่งเพลงได้ไม่แพ้จอห์นและพอลเลย
The Beatles เริ่มต้นบันทึกเสียง Here Comes The Sun กันในวันที่ 7 ก.ค. 1969 (วันเกิดครบรอบ 29 ปีของริงโก้) จอห์นยังมาไม่ได้ เพราะกำลังพักฟื้นจากการประสบอุบัติเหตุรถยนต์ในสก็อตแลนด์ สามเต่าทองเริ่มต้นด้วยการทำเบสิกริธึ่มแทร็ค พอล-เบส, ริงโก้-กลอง, จอร์จ-กีต้าร์โปร่งและร้องไกด์ พวกเขาเล่นกันได้อย่างสดใสเจิดจ้า และแม้ Here Comes The Sun เป็นเพลงที่สุดแสนจะเบิกบาน แต่จังหวะจะโคนของมันไม่ธรรมดาแม้แต่น้อย มีทั้ง 11/8,4/4 และ 7/8 ในท่อนบริดจ์ แต่ริงโก้ก็ไม่มีปัญหาอะไรในการรับมือจังหวะที่ผันแปรนี้ (ในภาพยนตร์ George Harrison : Living In A Material World ริงโก้เล่าให้ฟังในการตีเพลงนี้อย่างสนุกสนาน เห็นได้ชัดว่าเขาทำมันด้วยพรสวรรค์และเซนส์ล้วนๆ ในสารคดีนี้ท่านยังจะได้ฟังเสียงกีต้าร์ที่ไม่ได้ใช้ใน final version ของ Here Comes The Sun อีกด้วย) ในชั่วโมงสุดท้ายของเซสขั่น จอร์จปิดงานด้วยการใส่เสียงกีต้าร์ Gibson J-200
วันต่อมาจอร์จลบเสียงร้องนำเดิมและร้องใหม่ เพิ่มเติมเสียงประสานเสียง Sun,Sun,Sun ที่เขาร้องร่วมกับพอล ส่วนพอลก็ช่วยใส่เสียงกีต้าร์ผ่านลำโพงเลสลีย์เข้าไปอีก ขณะที่ริงโก้ก็เสริมเสียงสแนร์ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น มีการถ่ายทอดเทปจากเทค 13 ไปยังเทปแปดแทร็คม้วนใหม่ กลายเป็นเทค 16 ซึ่งจอร์จใส่เสียงฮาร์โมเนียมและเสียงตบมืออันสนุกสนานและซับซ้อนลงไป เติมเสียงประสานร่วมกับพอลลงไปอีกนิด วันที่ 6 และ 11 สิงหาคม จอร์จเพิ่มเสียงกีต้าร์ลงไปอีก และวันที่ 15 สิงหาคม จอร์จ มาร์ตินนำทีมออเคสตร้าบันทึกเสียงในเซสชั่นยาวเหยียด 9 ชั่วโมง (วิโอล่า 4 ตัว, เชลโล 4 ตัว, ดับเบิลเบส 1, พิคโคโล่ 2, ฟลุต 2 , อัลโตฟลุต 2 และ คลาริเน็ต 2 ตัว) และไหนๆออเคสตร้าก็มากันแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว ในเซสชันเดียวกันนี้ มาร์ตินก็บันทึกเสียงออเคสตร้าลงไปในเพลงอื่นๆในอัลบัมอีกหลายเพลงด้วย อันมี Golden Slumbers/Carry That Weight/The End และ Something
เสียงของออเคสตร้ากลบเสียงฮาร์โมเนียมของจอร์จเสียหมด ในวันที่ 19 สิงหาคม จอร์จอัดเสียงสุดท้ายลงไปในเพลง Here Comes The Sun มันคือเสียงของ Moog synthesizer อันเป็นเครื่องดนตรีอันโดดเด่นที่สุดในเพลงนี้อีกชิ้นหนึ่ง ในวันนั้นก็มีการทำสเตอริโอมิกซ์สำหรับเพลงนี้ มีการปรับสปีดเล็กน้อย, เสียงกีต้าร์ Gibson J-200 ได้รับการทำดับเบิลแทร็คด้วย ADT (เว้นแต่ช่วงอินโทร) พอลยังไม่หนำใจ เขาทำ sound loops พิเศษมาเพื่อเพลงนี้โดยเฉพาะ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ถูกเลือกนำมาใช้ใน final version อ้อ และสุดท้าย จอห์น เลนนอน ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยในเพลงนี้สักอย่างเดียว


No comments:

Post a Comment