Tuesday, 2 July 2019

Carry That Weight


"....ใกล้ถึงจุดจบแล้ว และผลงานการประพันธ์ร่วม (ของจอห์นและพอล) Carry That Weight นั้นคือมวลแห่งสรรพเสียงอันแกร่งกร้าว, เดินไปด้วยจังหวะปานกลางดั่งกองทัพที่เต็มไปด้วยวินัย, เสียงร้องประสานแบบ pub chorus ที่ผ่านการซักซ้อมมาอย่างเข้มงวด จนกระทั่งมาถึงท่อนเสียงเครื่องเป่าอันเนี้ยบเฉียบตามมาถึงและมันก็ยังมีพาร์ทกีต้าร์ที่ดุดันอีกด้วย...."

-จากบทรีวิว Abbey Road ในนิตยสาร NME 20 กันยายน 1969

นั่นคือสิ่งที่นักวิจารณ์เขียนจากที่เขาได้ยินสดๆและมีข้อมูลไม่มากมายหลังจากแผ่นออกมาไม่กี่วัน แต่ 50 ปีผ่านไป เรารู้อะไรเกี่ยวกับ Carry That Weight มากกว่านักรีวิวคนนั้นบ้าง?
เรารู้ว่าเพลงนี้ถึงแม้จะลงเครดิตว่าเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์ แต่แท้แล้วมันเป็นผลงานการประพันธ์ของพอลคนเดียว พอลเล่าไว้ในหนังสือ Many Years From Now ถึงที่มาของ Carry That Weight
"โดยทั่วไปผมเป็นคนร่าเริงนะ แต่บางเวลา เรื่องต่างๆมันก็ถาโถมมาที่ผมอย่างสาหัสจนผมร่าเริงไม่ออก และนั่นก็เป็นหนึ่งในเวลาแบบนั้น เราเล่นแอซิดกันหนักมาก และไหนจะยาอื่นๆอีก และสิ่งที่ Klein ทำมันก็เริ่มที่จะบ้าบอมากขึ้น มากขึ้น และ มากขึ้น ผมมีความรู้สึกเหมือนต้องแบกภาระนี้นานแสนนาน นานเหมือนกับชั่วนิรันดร์! นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในเพลงนี้"
พอลคงไม่ได้ตั้งใจจะให้เพลงนี้หมายถึงการแบกภาระในความเป็น The Beatles ไปอีกนานเท่านาน หลังจากพวกเขาแตกวงกันไปแล้ว แต่คนนับล้านฟัง Carry That Weight แล้วก็คิดเช่นนั้น ความยิ่งใหญ่ของ The Beatles, ใครล่ะจะมาแบกรับแทนพวกเขาทั้งสี่ จวบจนชีวิตจะดับสูญ และแม้แต่หลังความตายไปแล้ว
เราไม่รู้แน่ชัด แต่เราสงสัยว่า มันเป็นเรื่องบังเอิญอีกหรือไม่ที่นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่เพลงที่ทั้งสี่ร่วมคอรัสพร้อมๆกันในแบบ unison แม้แต่จอห์นที่ยังไม่ค่อยหายดีก็มาร่วมร้องด้วย แม้แต่ริงโก้ที่ไม่ค่อยจะมีเอี่ยวในเรื่องแบบนี้ แต่ในเพลงนี้เสียงบาริโทนของเขาโดดเด่นกว่าใครๆ มันยังเป็นการคอรัสที่แตกต่างไปจากเพลงอื่นๆของพวกเขา ที่มักจะแฝงลูกเล่น หรือความสนุกสนาน แต่ใน Carry That Weight มันเต็มไปด้วยความซีเรียสจริงจัง นี่ไม่ใช่เรื่องตลก
เรารู้ว่าจอห์นมีความเห็นสำหรับเพลงนี้ว่า "ผมคิดว่าพอลแม่งโคตรเครียดเลยตอนนั้น" (จอห์นบอกไว้ในปี 1980)
Carry That Weight เปิดตัวขึ้นกลางเพลง Golden Slumbers ขัดจังหวะที่มันจะไปถึงคอรัสอีกรอบ มันเปิดตัวด้วยเสียงประสานกระหึ่มอันจริงจังนั้นทันที จากนั้น เสียงเครื่องเป่าในท่วงทำนองคุ้นหูของ You Never Give Me Your Money ถูกย้อนกลับนำมาใช้ และพอลร้องเดี่ยวอีกหนึ่งท่อน ด้วยเนื้อหาที่แตกต่างไปเล็กน้อย มันยังมีธีมที่ต่อเนื่องจาก 'Slumbers'
I never give you my pillow I only send you my invitations And in the middle of the celebrations I break down.
ยังไม่พ้นเรื่องหมอนๆ นอนๆ แต่สี่บรรทัดนี้ถ้าจะตีความ มันช่างกินใจลึก และไม่น่าเป็นอื่นไปได้นอกจากความระแหงใกล้จุดแตกดับใน"ครอบครัว"สี่เต่าทอง (สังเกตการออกเสียงคำว่า 'down' ของพอล)
การ reprise ทำนองและเนื้อหาจากเพลงต้นเมดเลย์ในตอนเกือบปลายเมดเลย์นี้ ทำให้ทุกอย่างเมคเซนส์ขึ้นมาโดยพลัน นี่ไม่ใช่การนำเศษเพลงเหลือๆมาร้อยต่อกันเฉยๆ แต่มันคือ sequence ของดนตรีที่ผ่านการไตร่ตรอง ทั้งความหมายของเนื้อหา และคุณค่าของดนตรี (ถ้าคุณไม่มองโลกร้ายเกินไป และคิดว่ามันเกิดจากพอลคิดอะไรไม่ออกแล้วจึงนำทำนองเดิมมารีไซเคิล) Carry That Weight คือฝันร้ายที่โหมกระหน่ำ หลังความพยายามจะข่มตานอนใน Golden Slumbers ทุกอย่างที่เราได้ยินคือการก้าวเดินสู่ไคลแมกซ์ในเพลงสุดท้ายที่พวกเขาพร้อมจะใส่ทุกอย่างที่มีลงไป
กล่าวโดยสรุป Carry That Weight คือส่วนประกอบของดนตรีสามชิ้น คอรัส 'Boy, you're gonna carry that weight' ท่อน reprise จาก 'You Never Give Me Your Money' ที่เปลี่ยนเนื้อเพลง, และท่อนจบที่เป็นเสียงกีต้าร์ในทำนองเดียวกับท่อน "One two three... all good children go to heaven" ของ You Never Give Me Your Money เช่นกัน
The Beatles บันทึกเสียง Carry That Weight สดๆไปพร้อมๆกับ Golden Slumbers ซึ่งรายละเอียดได้กล่าวไปแล้ว ความแตกต่างอาจจะมีแค่เสียงร้องของจอห์นในคอรัสเฉพาะเพลงนี้ และเสียงสแนร์และกระเดื่องของริงโก้ที่มีการ overdubs เพิ่มความหนักแน่นเป็นพิเศษยิ่งกว่าเดิม
และสุดท้าย เรารู้เหมือนกับนักวิจารณ์ NME คนนั้น

it's getting very near the end.

No comments:

Post a Comment