Tuesday, 2 July 2019

Because


อาจจะไม่ค่อยน่าเชื่อสักเท่าไหร่ สำหรับความจริงที่ว่าในเยาว์วัย โยโกะ โอโนะเคยเรียนเปียโนคลาสสิก วันหนึ่งในปี 1969 เธอบรรเลงเพลง 'Moonlight' Piano Sonata No.14 in C Sharp minor, Opus 27. II ของ Beethoven ให้จอห์นเลนนอนที่นอนเล่นอยู่ฟัง จอห์นรู้สึกประทับใจและเกิดพุทธิปัญญาอะไรบางอย่าง เขาบอกให้โยโกะลองเล่นมันอีกครั้ง แต่ให้เธอเล่นด้วยทางเดินคอร์ดแบบย้อนศรจากที่เบโธเฟนแต่งไว้ จอห์นบอกภายหลังว่า นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนเพลง Because แต่เมื่อเอามาฟังกันจริงๆ ก็พบว่ามันก็มีส่วนคล้ายเพลงของเบโธเฟนแบบย้อนหลังนั้นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ชัดเจนจะแจ้งอะไร ถ้าเทียบกับช่วงสั้นๆในเพลง Amsterdam ในอัลบัม Wedding Album ของจอห์นและโยโกะ ในช่วงนาทีที่ 22.10 ที่บันทึกเสียงที่โรงแรม Amsterdam Hilton ระหว่างวันที่ 25 และ 31 มีนาคม 1969 (ช่วงสั้นๆนั้นมีชื่อเล่นว่า 'Stay In Bed') จะพบว่าเสียงกีต้าร์ของจอห์นมีความละม้าย Because มากกว่า เป็นไปได้ว่าจอห์นจะผสมผสานอารมณ์เพลงของเบโธเฟนลงไปในประสบการณ์ที่เนเธอร์แลนด์นั้นจนกลายมาเป็น Because
ถ้าไปถามพอล เขาคิดว่าเนื้อเพลงๆนี้ได้อิทธิพลมาจากโยโกะแน่ๆ คำประเภท wind, sky หรือ earth นั้นเป็นธีมถนัดของเธอ ส่งตรงมาจากหนังสือ Grapefruit (1964) จอห์นเองก็บอกว่าถ้อยคำเหล่านี้มันชัดเจนและมีความหมายในตัวเอง ไม่มีการเล่นคำ, ภาพในจินตนาการ หรือการอ้างอิงที่คลุมเครือ ส่วนจอร์จบอกว่าเขาชอบเพลงนี้ที่สุดในอัลบัมเพราะเขาชอบการประสานเสียงร้องสามเสียงในเพลงนี้ ซึ่งพวกเขาไม่เคยทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว หลังจากเพลง Yes It Is ในปี 1965 ส่วนพอลก็คิดว่านี่เป็นเพลงที่ดีที่สุดเพลงหนึ่งใน Abbey Road เช่นกัน
จอร์จ มาร์ตินได้ฟังจอห์นเล่น Because ครั้งแรกในวันที่ 1 สิงหาคม 1969 และเขาก็คิดว่าวงน่าจะได้ใช้ประโยชน์ในการเรียบเรียงเสียงประสานของเขาอีกครั้งแน่ แต่ขั้นแรกต้องทำแบ็คกิ้งแทร็คกันก่อน จอห์นเล่นกีต้าร์, มาร์ตินเล่นฮาร์ปซีคอร์ดไฟฟ้า และริงโก้เหยียบไฮแฮทให้จังหวะ (เสียงฉาบนี้ไม่ได้นำไปใช้จริง แค่ให้จังหวะในหูฟัง) พอลรับบทโปรดิวเซอร์ในช่วงนี้ และด้วยความเป็นพอลที่ไม่ค่อยพอใจอะไรง่ายๆ เขาสั่งให้ทั้งสามคนเล่นกันเทคแล้วเทคเล่าจนแทบหมดแรงเมื่อผ่านไป 23 เทค จนจอห์นทนไม่ไหวเดินขึ้นไปขอลองฟังเทปดูและพบว่าเทค 16 ที่อัดไปแล้วเมื่อชั่วโมงกว่าก่อนหน้านี้ มันยอดเยี่ยมอยู่แล้ว จอห์นไม่ได้พูดอะไร นอกจากส่งสายตาโหดเหี้ยมให้พอลหนึ่งดอก จากนั้นพอลก็เติมเสียงเบสลงไป
จอห์น พอล จอร์จ ต้องซ้อมการร้องประสานเสียงที่มาร์ตินเขียนโน้ตให้อย่างจริงจังเป็นเวลาสามชั่วโมงกว่าจะอัดเสียงร้องเป็นเทคแรกได้ สามวันต่อมาพวกเขาตัดสินใจทำ double และ triple track ของเสียงร้องของเขาทั้งสามในเทคแรกนี้และทั้งสามยังร้องเพิ่มใหม่ลงไปอีกสองเทคด้วย
ภาพใน Abbey Road วันนั้นคือ แสงไฟในห้องอัดถูกหรี่ลงเพื่อสร้างบรรยากาศ เต่าทองทั้งสามนั่งเรียงกันในแนวครึ่งวงกลม และแม้จะอ่อนล้า แต่ก็ไม่มีใครแสดงอาการจะถดถอย มันกินเวลาถึงกว่าห้าชั่วโมงกว่าจะได้เทคที่น่าพอใจ แต่มันก็คุ้มค่า เพราะเสียงที่ได้ยินใน final version นั้น ประหนึ่งว่าพวกเขาใช้นักร้องประสานเสียงมากกว่า 9 คน ขับร้องเมโลดี้อันเยือกเย็น สง่างาม และกลมกล่อม มันคือการประสานเสียงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบทเพลงของ The Beatles
5 สิงหาคม จอร์จเติมเสียง Moog ลงไปในเพลง เขาเป็นนักดนตรีคนแรกๆของอังกฤษที่นำเครื่องดนตรีนี้มาใช้ในการบันทึกเสียง โดยจอร์จซื้อมันมาจากแคลิฟอร์เนียในวันที่ 15 พ.ย. 1968 เขาเคยนำมันมาใช้ก่อนหน้านี้ในอัลบั้ม Electronic Sounds ของเขาที่ออกในเดือนพ.ค. 1969 และนี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ Moog ในการบันทึกเสียงของ The Beatles (แต่ในแผ่นเสียง เสียงมู้กเปิดตัวไปก่อนในแทร็ค Maxwell's Silver Hammer)
Geoff Emerick เห็นความงดงามในความพิสุทธิ์ในเพลงนี้จึงเกิดไอเดียว่าเขาจะไม่ใช้ signal processor, compressor หรือ limiters ใดๆในเพลงนี้ และเขาก็ทำได้จริง มิกซ์เสียงโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรุงอะไรเสริมเลยในวันที่ 12 สิงหาคม 1969 และทำ final stereo mix ในวันนั้น
ถ้าคุณอยากฟังเสียงร้องของจอห์น พอล และ จอร์จ แบบไม่มีเครื่องดนตรีใดๆเลย จะหาฟังได้ในอัลบัม Anthology 3 และ Love (ชุดหลังจะมีเสียงนกจิ๊บๆเล็กน้อย)
หลายปีต่อมา พอลตามซื้อฮาร์ปซีคอร์ดตัวนั้นที่มาร์ตินเล่นในเพลง Because มาได้สำเร็จ (จาก EMI) เขานำมาเล่นอีกครั้งในเพลง Free As A Bird ในปี 1995

No comments:

Post a Comment