Tuesday, 2 July 2019

I Want You (She's So Heavy)


"I Want You ก็คือตัวผมเองร้องให้โยโกะ" จอห์นสรุปสั้นๆถึงเพลงนี้จากการให้สัมภาษณ์กับ David Sheff (Playboy Interview) อันโด่งดังในปี 1980 ง่ายๆอย่างนั้นแหละ เพลงนี้ถ้าจะนับคำจริงๆก็มีคำแค่ประมาณ 1 โหลเท่านั้น แต่ความพอเพียงของภาษานี้ถูกนำมาใช้อย่างทรงพลังและได้ประสิทธิผลในความเป็นตัวตนอย่างยิ่งของเลนนอน เขานำหัวใจออกมาแผ่หรา, ไม่มีการผ่อนปรนอะไร, อย่างที่เขาเป็นเสมอมา แต่ในปี 1970 จอห์นกล่าวไว้ได้ฮากว่านั้น
"มีคนบอกว่าในเพลงนี้ผมหมดสภาพในความเป็นอัจฉริยะด้านการเขียนเนื้อเพลงไปแล้ว มันธรรมดาและน่าเบื่อหน่ายเหลือเกิน ผมจะบอกคุณให้นะว่า She's So Heavy มันเกี่ยวกับโยโกะ และเมื่อเราพูดกันถึงเรื่องนี้ มันก็เหมือนคุณกำลังจะจมน้ำตาย คุณจะไม่พูดหรอกว่า ผมจะยินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าใครสักคนจะมีวิสัยทัศน์พอที่จะเห็นว่าฉันกำลังจะจมน้ำและยื่นมือเข้ามาช่วยผม คุณแค่กรีดร้อง และใน She's So Heavy ผมก็เป็นอย่างนั้น ผมแค่ร้องว่า I want you, I want you so bad, she's so heavy, I want you จบนะ"
จอห์นอาจจะได้แรงบันดาลใจบางอย่างของริธึ่มของเพลงนี้มาจากเพลง "Comin' Home, Baby" เพลงของ Mel Torme ในปี 1962 ใน I Want You นี้เราอาจจะแบ่งมันออกได้เป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นการร้อง และส่วนที่เป็นการบรรเลง ส่วน"ร้อง" เป็นบลูส์ไมเนอร์สเกลที่มีเสียงร้องทับไปกับการโซโลกีต้าร์ ส่วน"บรรเลง"นั้นแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นเอกเทศออกจากส่วนแรก มันเป็น harmonic progression ที่เล่นในแบบ arpeggios ด้วยกีต้าร์ที่ซ้อนทับกันหลายชั้นสำหรับส่วนที่เป็น 'coda' ของบทเพลง จอห์นพยายาม"บิ๊ว"ความเครียดเค้นขึ้นเรื่อยๆเพื่อแสดงถึงความลุ่มหลงที่เขามีให้ต่อโยโกะ
The Beatles เริ่มซ้อมเพลงนี้กันในวันที่ 29 มกราคม 1969 ก่อนคอนเสิร์ตบนหลังคาอันยิ่งใหญ่ 1 วัน ตอนนั้นเพลงนี้ยังมีชื่อแค่ 'I Want You' เท่านั้น ('She's So Heavy ถูกเติมเข้ามาภายหลังในวันที่ 11 สิงหาคม) แต่การเล่นอย่างจริงจังเกิดขึ้นครั้งแรกที่ Trident Studios ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พวกเขาเล่นกันไป 35 เทค จอห์นร้องนำได้เด็ดดวงและเล่นกีต้าร์คู่ไปกับจอร์จ ส่วนพอลก็ไม่น้อยหน้า ปล่อยท่อนเบสสุดคูลซึ่งช่วยประสานรอยต่อระหว่างบลูส์ริฟฟ์, glissandos และจังหวะละติน Billy Preston วาดฝีมือออร์แกนอย่างฟู่ฟ่า ขณะที่ริงโก้คุมจังหวะหนักแน่น วันต่อมาจอห์นพบว่าเขาไม่พอใจเทคไหนเต็มๆสักเทค จึงสั่งให้มีการควบสามเทคเข้าเป็นหนึ่งเดียว เสียงร้องของจอห์นตอนต้นเพลงจากเทค 9, ท่อน middle eight จากเทค 20 ส่วนที่เหลือมาจากเทค 32 รวมเวลาแล้วผลจากการรวมนี้ได้เพลงที่มีความยาวมากกว่า 8 นาที อีกวันต่อมา (24 ก.พ.) มีการทำ edited master และนี่คือผลลัพธ์ของ 'Trident Recording' สำหรับ I Want You
กระโดดมาในวันที่ 18 เมษายน ที่ Abbey Road จอห์นและจอร์จบันทึกเสียงกีต้าร์เพิ่มเติมลงไปอีกมากมายในท่อนอินโทรและโคดาของเพลงนี้ เสียงกีต้าร์ arpeggios เป็นการเล่นแบบ unison ของทั้งสอง ทั้งจอห์นและจอร์จพ่วงกีต้าร์ของเขาเข้ากับ Fender Twin Reverb และบิดโวลลุ่มไปที่เกือบสุดเพื่อที่จะให้ได้เสียงที่มหึมาที่สุด แต่การที่อัดเสียงกีต้าร์เข้าไปมหาศาลแบบนี้ก็ทำให้เสียงออร์แกนของบิลลี่ เพรสตันถูกกดจมหายไป อย่างไรก็ตามในวันที่ 20 เมษา อาจจะเป็นพอลที่อัดเสียงแฮมมอนด์ออร์แกนเพิ่มเข้าไปอีก และริงโก้ตีคองก้าใส่เข้าไปด้วย
จนกระทั่งวันที่ 8 สิงหาคม พวกเขากลับมาหาเพลงนี้อีกครั้ง จอห์นอัดเสียง 'white noise' จาก Moog ลงไป เขาถูกใจเสียงนี้เพราะมันมีความน่ากลัวและความหลอนที่เหมาะมากกับตอนท้ายของเพลงนี้ ริงโก้เพิ่มเสียงสแนร์ลงไปอีก, 11 สิงหา จอห์นพอลและจอร์จร่วมกันร้องคอรัส she's so heavy ลงไปในมาสเตอร์ของวันที่ 18 เมษายน ในช่วงนี้มีความสับสนในการ label ที่มาสเตอร์ที่ชวนงงเล็กน้อย แต่อย่าไปสนใจมันเลย!
ใน final version จอห์นเลือกการบันทึกเสียงที่ Abbey Road ในช่วง 4.37 นาทีแรก และการบันทึกเสียงจาก Trident ในช่วงที่เหลือของเพลง (ทำให้นึกถึงสิ่งที่เขาเคยทำไว้ใน Strawberry Fields Forever ในทำนองเดียวกัน) ช่วงท้ายเพลงที่จอห์นใส่ white noise อย่างเมามันสร้างความปวดเศียรให้พอลอย่างมาก Geoff Emerick เล่าว่าเขาเห็นพอลนั่งคอตกมองพื้น ไม่พูดอะไรสักคำ เขาไม่เข้าใจว่าจอห์นกำลังทำอะไรอยู่ เท่านั้นยังไม่พอ จอห์นยังสั่งให้"ตัด"เทปออกดื้อๆก่อนที่เพลงจะจบ 20 วินาที ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามันจะกลายเป็นการจบที่เวิร์คมากๆ จนจอห์นอยากจะให้มันเป็นเพลงจบในหน้าสองของ Abbey Road เลยด้วยซ้ำ (แต่ไม่มีใครเอาด้วย)
I Want You เป็นเพลงสุดท้ายที่ The Beatles ทั้งสี่คนร่วมบันทึกเสียงพร้อมกันในห้องอัด หลังจากวันที่ 20 สิงหาคม 1969 พวกเขาก็ไม่เคยร่วมงานด้วยกันที่เดียวกันเวลาเดียวกันอีกเลย


No comments:

Post a Comment