มันสวยงามเกินไป มันดูเป็นเทพนิยายเกินไป เพลงสุดท้ายของวงดนตรีที่โด่งดังที่สุดที่มนุษย์เคยรู้จัก มีชื่อเพลงว่า The End สมาชิกทุกคนทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ละคนออกมาโซโล่เครื่องดนตรีของตนทีละคนทีละคนราวกับมันเป็นเพลงแจ๊ส และประโยคสุดท้ายของเพลงที่จะเป็นปรัชญาให้แฟนเพลงจดจำกันไปชั่วกัปกัลป์ อะไรจะขนาดนั้น
ใช่, ทุกอย่างมันดูเป๊ะเวอร์ แต่ก็นั่นแหละ หลายต่อหลายครั้งที่เราได้ยินได้เห็นว่า ชีวิตนั้นบางทีก็ยิ่งกว่านิยาย ทุกอย่างที่กล่าวมาด้านบนเกิดขึ้นจริงในเพลงสุดท้ายของอัลบัมสุดท้ายที่ The Beatles บันทึกเสียงร่วมกัน "The End" (ไม่นับ Her Majesty นะ!)
Ringo Starr เป็นมือกลองที่ผิดแผกจากมือกลองทั่วไป เขาไม่เคยเห็นด้วยกับการเล่นโซโล และหลีกเลี่ยงมันมาตลอด ริงโก้ไม่เคยโซโลกลองในเพลงของ The Beatles เลยแม้แต่เพลงเดียว (จะมีใกล้เคียงที่สุดก็คือการรัวกลองสั้นๆใน What You're Doing และ I'll Get You) และเมื่อพอลลองชวนให้เขาโซโล่ใน The End นี้ ริงโก้ก็ไม่ได้ตอบรับทันที จวบจนเพื่อนๆอ้อนวอนระคนขู่เข็ญสักพักใหญ่นั่นแหละ ริงโก้จึง... เอาก็เอาวะ ของดีมักมีน้อย นี่เป็นการบันทึกเสียงการโซโลกลองครั้งเดียวในชีวิตของเขาจนทุกวันนี้ และมันก็อาจจะเป็นการโซโลกลองที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรี (แม้มันจะมีความละม้ายคล้ายการโซโลของ Ron Bushy แห่งวง Iron Butterfly ในเพลง In-A-Gadda-Da-Vida ในปี 1968 สักหน่อยก็เถิด)
จอร์จ แฮริสันเสนอให้มีการโซโลกีต้าร์หลังท่อนกลองของริงโก้ จอห์นยกมือว่าเขาจะโซโลเอง เรียกเสียงฮาจากทุกคน แต่แล้วจอห์นก็ได้ไอเดียใหม่ "ทำไมเราไม่โซโลกันทุกคนเลยล่ะ เราจะเล่นต่อกันและแลกลิคส์กันให้มันส์ไปเลย" พอลปิ๊งไอเดียนี้ทันทีและบอกว่าอย่างนี้เราต้องเล่นกันสดๆสิวะเพื่อน จอห์นเอาด้วย ส่วนจอร์จลังเลเล็กน้อยก่อนจะตอบตกลง พอลขอจองโซโลคนแรกเพราะเขาเป็นเจ้าของเพลง จอห์นรีบบอกว่างั้นเขาขอโซโลคนสุดท้ายเพราะเขาเป็นคนคิดไอเดียนี้ จอร์จก็เลยต้องเป็นชายกลางตามระเบียบ พวกเขาโซโลกันคนละสองบาร์สามรอบตามลำดับดังกล่าว (รอบสุดท้ายของจอห์นอาจจะยาวกว่าคนอื่นหน่อย) พอลกับจอห์นใช้กีต้าร์ Epiphone Casinos ส่วนจอร์จใช้ Gibson Les Paul "Lucy" ตัวเก่ง
ก่อนที่ทั้งสามจะเดินหน้าเข้าห้องอัดโซโลในตำนานนี้ โยโกะ โอโนะ ทำท่าจะเดินตามจอห์นเข้าไปด้วย (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเธอในช่วงนั้นที่จะแทบไม่ห่างจากจอห์นเลย) แต่จอห์นปฏิเสธ เหมือนเขาอยากสงวนเวลานี้ไว้ให้เป็นความทรงจำของความสนุกในการเล่นดนตรีกับเพื่อนๆเป็นการส่วนตัวสักนิด สามเต่าทองโซโล่กันเพียงเทคเดียวเท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่เราได้ยินในอัลบั้ม
พอลอยากจะจบเพลงนี้ด้วยบทกลอนสองบรรทัดที่เปี่ยมความหมายในสไตล์ของเช็คสเปียร์ อันเป็นที่มาของประโยคสุดท้าย And in the end / the love you take is equal to the love you make จอห์นเองยังอดชมไม่ได้ว่า "มันเป็นประโยคที่เป็นปรัชญาหลุดโลกไปเลย พิสูจน์ให้เห็นว่าถ้าพอลตั้งใจจริง เขาก็คิดเป็น" (นั่นชมหรือด่า)
ถ้าเราจะมองให้ไกลเกินกว่าคำว่า love ประโยคนี้มันอาจหมายถึงกฎแห่งกรรม กฎธรรมชาติของเหตุและผล ปฏิจจสมุปบาท เมื่อถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่คุณได้รับ ก็คือกรรมทั้งหมดที่คุณทำมานั่นเอง ชีวิตนี้พอลคงเขียนอะไรให้ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว
ความโด่งดังของประโยคสุดท้ายของบทเพลง ทำให้ไม่ค่อยมีใครพูดถึงประโยคแรกกันนัก Oh yeah! All Right! Are you gonna be in my dreams.... tonight? ชัดเจนว่าเพลงนี้ยังเกาะเกี่ยวในธีมของการนอนและความฝันจากสองเพลงแรก มันเป็นประโยคแปลง่ายๆที่น่าตีความเหลือเกินว่าพอลหมายถึงใครและอะไร
การบันทึกเสียง "The End" เต็มไปด้วยความยุ่งยากพอสมควร หลังจากซ้อมกันมาพักหนึ่ง พวกเขาเริ่มอัดเบสิกแทร็คกันในวันที่ 23 ก.ค. 1969 โดยมีจอห์นและจอร์จเล่นกีต้าร์, พอลเล่นเบส, ริงโก้กลอง วันนั้นพวกเขาอัดกัน 7 เทค และแต่ละเทค ริงโก้ก็โซโล่กลองแตกต่างกันไป และมันก็เจ๋งขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาตัดสินใจว่าเทค 7 นั้นดีที่สุด มันมีความยาว 1:20 นาที พอลเติมเปียโนเข้าไปและวงก็บันทึกเสียง final part ต่อ สุดท้ายได้เพลงมีความยาว 2:05 นาที
สัปดาห์ต่อมาพวกเขาเทสต์เพลงในเมดเลย์ทั้งหมด และเห็นพ้องต้องกันว่า The End สอบผ่าน แม้ว่ามันจะยังทำไม่เสร็จดี 5 สิงหาคม พอลร้องนำ (ดับเบิลแทร็คเสียงร้องของเขาเอง) โดยมีจอร์จและจอห์นร้องประสานเสียง สองวันต่อมา พวกเขาอัดเสียงคอรัส 'love you's' ในตำแหน่งหลังเสียงโซโลกลองของริงโก้ จากนั้นจึงถึงคิวของการดวลกีต้าร์สามตัว ในบางช่วงของกระบวนการสร้างเพลงนี้มีเสียงกีต้าร์และแทมโบรีนประกอบในการโซโลกลองของริงโก้ด้วย (ฟังได้ใน Anthology 3) แต่ต่อมาก็ถูกตัดออกหมดเหลือแต่เสียงกลองอย่างเดียว พอลเติมเสียงเบสและริงโก้เสริมกลองอีกหน่อย 15 สิงหาคม จอร์จ มาร์ตินอัดเสียงออเคสตร้าวงใหญ่
18 สิงหาคม ทำ stereo mixes และพอลอัดเสียงเปียโนสั้นๆก่อนเข้าประโยคสุดท้ายอันโด่งดังนั้น เป็นความละเอียดอ่อนที่ขับเด่นประโยคนั้นขึ้นไปอีก เพลงจบลงด้วยโซโลกีต้าร์ที่สวยงามที่สุดจากจอร์จ แฮริสัน
ริงโก้พูดถึงเสียงกลองของเขาใน Abbey Road ว่าที่มันฟังดูดีเป็นพิเศษ เพราะเขาใข้ทอม-ทอมหนังวัวใบใหม่เอี่ยม "มันเป็นสมบัติส่วนตัวของผม"
ระหว่างบันทึกเสียง Abbey Road ไม่มีใครพูดว่านี่จะเป็นอัลบัมสุดท้ายของพวกเราแล้วนะ แต่ลึกๆทุกคนรู้ดีว่ามันมีโอกาสสูงที่จะเป็นเช่นนั้น นั่นอาจเป็นเหตุผลที่พวกเขาปล่อยของมากมายในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน และในสามเพลงสุดท้ายของอัลบัม ต่อให้พวกเขาคิดรูปแบบอื่นอีก 14 ล้านครั้ง ก็คงจะยากที่จะมีครั้งไหนที่จะสมบูรณ์แบบเท่านี้ เว้นแต่ว่า จะเป็นครั้งที่ไม่มี"ติ่ง" ต่อท้าย พรุ่งนี้เราจะพูดถึงติ่งยาว 23 วินาทีนั้นกันครับ
No comments:
Post a Comment