Tuesday, 2 July 2019

Golden Slumbers


หลังจาก "She Came In Through The Bathroom Window" ความต่อเนื่องของบทเพลงตั้งแต่ You Never Give Me Your Money ก็ถูกความเงียบเข้ามาขีดคั่น โดยทางเทคนิคอาจกล่าวได้ว่าเมดเลย์ชุดแรกจบลงไปแล้ว แต่ในทางอารมณ์มันยังไม่มีความรู้สึกว่าจบ เพียงแค่ตัวเชื่อมระหว่างเพลง ณ ที่นี้คือความเงียบงันเท่านั้นเอง ผู้ฟังเตรียมพร้อมสำหรับไคลแมกซ์สุดท้าย ซึ่งเมื่อ "บิ๊ว" กันมาขนาดนี้แล้ว คงจะน่าเสียดายมากถ้าบทจบจะไม่ดีงาม แต่ก็ไม่มีใครต้องผิดหวังในเมื่อไตรเพลงสุดท้ายที่ The Beatles จัดปิดท้ายนั้นเลยคำว่าดีงามไปมาก มันคือหัวใจแห่งความยิ่งใหญ่ของ Abbey Road Medley แทบจะนึกไม่ออกเลยว่าจะมีสามเพลงไหนมาปิดเมดเลย์ได้อลังการงานสร้างไปกว่านี้อีก
สัญญาณแห่งความเป็นนักแต่งเพลงอัจฉริยะของจอห์นและพอลอย่างหนึ่งคือ การหาแรงบันดาลใจได้จากทุกๆที่ในทุกๆวัน Golden Slumbers คือหนึ่งตัวอย่าง วันหนึ่งพอลนั่งเล่นเปียโนอยู่ที่บ้านของคุณพ่อของเขาที่ลิเวอร์พูล เขาเหลือบไปเห็นหนังสือโน้ตเพลงเก่าๆของน้องสาวบุญธรรมของเขา- Ruth ในนั้นมันมีบทเพลงชื่อ Golden Slumbers อันเป็นการประพันธ์ของ Thomas Dekker (1570-1692) จากปี 1603 (รุ่นเดียวกับเช็คสเปียร์) พอลถูกใจเนื้อเพลงของเพลงนี้ แต่เขาอ่านโน้ตไม่ออก (ตำนานว่าอย่างนั้น) และพอลก็จำทำนองของมันไม่ได้ เขาจึงจัดการใส่เมโลดี้เข้าไปในเนื้อเพลงของ Dekker
เนื้อเพลง "Golden Slumbers" ทั้งหมดของ Dekker มีดังนี้

Golden slumbers kiss your eyes, Smiles awake you when you rise ; Sleep, pretty wantons, do not cry, And I will sing a lullaby, Rock them, rock them, lullaby. Care is heavy, therefore sleep you, You are care, and care must keep you ; Sleep, pretty wantons, do not cry, And I will sing a lullaby, Rock them, rock them, lullaby.

พอลตัดเนื้อเพลงของ Dekker มาเพียงบางส่วนและดัดแปลงมาเป็นเนื้อเพลง "Golden Slumbers" ที่เรารู้จักกันดี เพลงนี้ถูกออกแบบมาตั้งแต่แรกเริ่มว่าต้องเล่นต่อเนื่องกับ Carry That Weight (อ้างอิงจากปากคำของพอลเอง, มีความเป็นไปได้ว่าพอลแต่ง Carry That Weight ก่อนแล้วจึงแต่งทำนองของ Golden Slumbers ให้สอดรับกับมัน)
พอลเริ่มเล่นสองเพลงนี้ตั้งแต่การซ้อมดนตรีใน Get Back Sessions ก่อนที่เขาจะคิดถึง The Abbey Road Medley ชุดใหญ่ ต่อมามันเป็นเพลงจากการแต่งเพลงของพอลเพลงที่สามที่ได้รับการบันทึกเสียงสำหรับเมดเลย์ ต่อจาก You Never Give Me Your Money และ Her Majesty
The Beatles เริ่มบันทึกเสียง Golden Slumbers/Carry That Weight กันในวันที่ 2 ก.ค.1969 ขณะนั้นจอห์นกำลังอยู่ในช่วงพักฟื้นหลังจากประสบอุบัติเหตุรถยนต์ แต่เขาก็ดูจะไม่ขัดอะไรกับไอเดียในการทำเมดเลย์ เบสิกแทร็คของสองเพลงนี้จอห์นไม่ได้เล่นอะไร พวกเขาอัดกันไป 15 เทค โดยมีพอลเล่นเปียโนและร้องไกด์, จอร์จเล่นเฟนเดอร์เบส, ริงโก้กลอง ใน Anthology DVD จะมีการถกเถียงกันเล็กน้อยว่าใครกันแน่ที่เล่นเบสเพลงนี้ แต่จอร์จ มาร์ตินสรุปว่า ในเมื่อมันอัดกันสดๆ และพอลเล่นเปียโนอยู่ ก็ต้องเป็นจอร์จอย่างแน่นอน
(จอห์นช่วยร้องคอรัสในเพลง Carry That Weight นั่นเป็นสิ่งเดียวที่เขาทำในสองเพลงนี้)
มีการ edit เทค 13 และ 15 เข้าด้วยกันในวันต่อมา และโอเวอร์ดับเสียงร้องและริธึ่มกีต้าร์ของพอลลงไปใน edited take นี้ รวมทั้งเสียงโซโล่กีต้าร์ของจอร์จ พอลเล่าให้ Barry Miles ฟังว่า เขาตั้งใจมากที่จะให้เสียงร้องของเขาดูเข้มแข็งอย่างยิ่งในเพลงที่อ่อนหวานนี้ มันฟังดูขัดๆกัน แต่เมื่อฟังแล้วก็ต้องบอกว่าพอลทำได้สำเร็จจริงๆ การบันทึกเสียงปิดท้ายด้วยการเติมเสียงกลองและทิมปานีโดยพอลและริงโก้ และออเคสตร้าวงใหญ่จากการกำกับของจอร์จ มาร์ติน
ถ้าท่านฟัง Golden Slumbers แล้วรู้สึกว่ามีอารมณ์เศร้าลึกล้ำ คล้ายคลึงกับในท่อนแรกของ You Never Give Me Your Money ก็อย่าได้แปลกใจ เพราะท่อนเปิดของสองเพลงนี้ใช้คอร์ดชุดเดียวกัน
และถ้า Golden Slumbers คือการกล่อมให้หลับใหล ให้หลุดพ้นจากโลกอันโหดร้ายและปวดร้าว เพลงต่อไปคือฝันร้ายที่จะตามมาหลอกหลอนที่มันอาจจะร้ายกาจเสียยิ่งกว่าความจริง เพราะมันคือความจริงที่รอพวกเขาอยู่

No comments:

Post a Comment