Tuesday, 2 July 2019

Would you believe in a love at first sight?



Would you believe in a love at first sight?
Yes, I'm certain that it happens all the time
(from 'With A Little Help From My Friends" written by John Lennon & Paul McCartney)

ใช่, ผมเชื่อว่ารักแรกพบมีจริง
แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาหรอกนะ

เมื่อเพื่อนคนหนึ่งให้ผมยืมแผ่นเสียงเก่าๆ (น่าจะเป็นของญาติเขา) ที่มีหน้าปกเป็นชายสี่คนเดิมข้ามทางม้าลายนี้มาฟังที่บ้าน นั่นคือครั้งหนึ่งที่เรียกได้เต็มปากว่าคือรักแรกพบ (ยิน) ผมฟัง Abbey Road ด้วยข้อมูลที่มีบนปกหน้าและหลังแผ่นเสียงเท่านั้น ไม่รู้อะไรมากกว่า ไม่ทราบว่ามันคืองานสุดท้ายของพวกเขา มันน่าจะเป็นราวปี 1981 หลังจาก John Lennon เสียชีวิตไม่นาน และ สิบสองปี หลังจากโลกได้รู้จักอัลบั้มนี้ ณ ขณะนี้ ผมก็กำลังฟังมันอยู่ ไม่ใช่จากแผ่นเสียงแผ่นนั้น แต่เป็นการฟังจากเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ห่างไกลออกไป สตรีมมิ่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผมไม่อาจบอกคุณได้ว่ามันเป็นรอบที่เท่าไหร่ เพียงแต่บอกได้ว่ารักแรกพบนี้ไม่ได้จืดจางลงเลยแม้แต่นิดเดียว

เมื่อมีการถามถึงลิสต์อัลบั้มที่ชอบที่สุด ให้จัดกี่ครั้งก็คงแตกต่างกันออกไป แต่อันดับหนึ่งของผมไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่วันนั้นมา

เป็นการยากที่จะบอกว่าชอบอะไรในสิ่งที่คุณใกล้ชิดกับมันมากมายและแสนนานขนาดนี้ คุณคงให้อภัยที่มันจะเป็นรีวิวที่เอียงกะเท่เร่

The Beatles ไม่จำเป็นต้องทำอัลบั้มนี้ พวกเขาก็คงจะเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากนี้มากนัก พวกเขาสามารถจะเลิกรากันไปตั้งแต่ความล้มเหลวไม่เป็นท่าในการทำ Let It Be (ตอนนั้นเรียกว่า Get Back project) ก็ได้ เหมือนกับวงดนตรีระดับพระกาฬหลายๆวงที่มักจะวางมือกันไปด้วยงานที่เจ๊ง หรือพวกเขาอาจจะแตกสลายไปก่อนหน้านั้นด้วยอัลบั้ม White Album และทิ้งเพลง Good Night ให้เป็นเพลงอำลาตลอดกาล...ก็ยังได้

แต่พระเจ้าองค์ที่เขียนบทตอนนี้ คงไม่ประสงค์ให้เรื่องราวของสี่เต่าทองจบลงแบบไม่แฮปปี้ ท่านดลใจให้พวกเขา "ฮึด" เป็นครั้งสุดท้าย โทรศัพท์เรียกโปรดิวเซอร์คู่บุญ จอร์จ มาร์ติน กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งมาร์ตินก็ตอบรับ ด้วยข้อแม้ง่ายๆ ว่าได้สิ แต่เราต้องทำงานกันแบบเดิมๆนะ มันเป็นข้อแม้ที่สำคัญเหลือเกิน

แม้ว่า Abbey Road จะไม่ถึงกับเป็นการย้อนกลับไปทำงานแบบร่วมมือร่วมใจเหมือนเดิมในยุคของ Sgt. Pepper หรือ Revolver ก็ตาม หลายครั้งที่พวกเขาไม่ได้อยู่ร่วมกันในห้องอัด แต่ผลงานที่ออกมาก็มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับที่คนฟังอย่างเราๆรู้สึกได้ เราไม่ได้รู้อะไรมากนักหรอกในสมัยนั้น เราก็แค่ฟังจากเพลงที่พวกเขาทำออกมา

ขณะที่พวกเขาเล่นดนตรีบันทึกเสียงกัน ไม่มีใครในเซสชั่นประกาศออกมาหรอกว่า นี่จะเป็นอัลบั้มสุดท้ายของ The Beatles แล้วนะ แต่จากปากคำของหลายๆคนที่มาเล่าให้ฟังภายหลัง ลึกๆแล้ว พวกเขารู้อยู่แก่ใจว่า นี่คงจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะทำงานร่วมกัน

ขอบคุณที่โลกยุคนั้น คนยังฟังเพลงกันด้วยสื่อที่แบ่งอัลบั้มออกเป็นสองหน้า เพราะความดรามาติกของหลายๆอัลบั้มรวมทั้ง Abbey Road คงจะจืดจางลงไปเยอะ ถ้าเปิดฟังกันรวดเดียวไม่มีการกลับด้านแผ่นหรือเทป แม้ทุกวันนี้จะฟังจากสตรีมมิ่ง แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะความทรงจำของเราจะย้ำเตือนอยูแล้วโดยอัตโนมัติ ว่านี่คือเวลาของด้านไหนของแผ่นเสียง

เป็นที่รู้กันว่าหน้าแรกคือหน้าของ 'rocker' ในแบบที่เลนนอนชอบ

และหน้าสองคือหน้าของ 'medley' ในแบบที่แมคคาร์ทนีย์คุม อย่าถามผมว่าชอบหน้าไหนมากกว่ากัน เพราะผมจะตอบแบบซื่อตรงว่าเท่ากัน ความยอดเยี่ยมของแต่ละเพลงคงไม่ต้องสาธยายกันอีก ถ้าคุณเคยฟังคุณคงทราบดี แต่ถ้าไม่เคย, ผมคงไม่สปอยล์มันตรงนี้

จากชื่อเพลงที่เหมือนประกาศการทำงานร่วมกันอีกครั้งใน Come Together จนถึงเพลงสุดท้ายที่"สุดท้าย"เสียออกนอกหน้าใน The End นี่คือการเขียนบทที่ทรงพลังที่สุดของพระเจ้า ในที่สุดตำนานบทนี้ก็จบลงแบบ happy ending

ความรักไม่ใช่คณิตศาสตร์ แต่ถ้ามันจะมีสมการสักสมการที่ไว้อธิบาย The Beatles ตั้งเอาไว้ให้แล้วในประโยคสุดท้ายในเพลงสุดท้ายของพวกเขา ที่เป็นคำตอบว่าทำไม The Beatles ถึงเป็นที่รักท่วมท้นเหลือเกิน......

ในท้ายสุดแล้ว รักที่คุณจะได้รับ=รักที่คุณได้สร้าง

และจากนี้ไป... ผมจะเล่าเรื่องราวของทุกเพลงใน Abbey Road ให้คุณฟังกัน

No comments:

Post a Comment