แรงบันดาลใจของเพลงนี้นั้นมีหลายแง่มุมและเป็นที่ถกเถียงกัน ด้านหนึ่งเป็น Timothy Leary อีกด้านหนึ่งคือ Chuck Berry "Come Together" เดิมเป็นสโลแกนของทิโมธี่ ผู้เป็นนักจิตวิทยา,นักเขียน,นักปรัชญาและเป็นหนึ่งในสาวกของ LSD ที่เขาใช้ในการรณรงค์หาเสียงในการลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีแห่งแคลิฟอร์เนีย (คู่แข่งของเขาคือ โรนัลด์ รีแกน) สโลแกนเต็มๆของทิโมธี่คือ "Come together, join the party" คำว่าปาร์ตี้ในที่นี้อาจตีความได้สองความหมาย พรรคการเมือง หรือการชุมนุมเสพยากันตามวัฒนธรรมยอดฮิตยุคนั้น
วันที่ 30 พ.ค.ธิโมธี่เดินทางไปเยี่ยมจอห์นและโยโกะขณะที่ทั้งสองกำลังทำพิธีกรรม Bed-In อันโด่งดังอยู่ที่ Montreal เขาขอร้องให้จอห์นแต่งเพลงช่วยเขาหาเสียงในงานนี้ จอห์นนั้นชื่นชมทิโมธี่อยู่แล้ว เขาจึงตอบตกลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขาจะพยายามอยู่หลายต่อหลายครั้ง จอห์นก็พบว่าเขาไม่มีแก่ใจจะแต่งมันได้ สุดท้ายจอห์นก็เลยเขียนเพลงๆหนึ่งที่แทบไม่มีอะไรเกี่ยวกับไอเดียเริ่มแรกเลย ยกเว้นชื่อเพลงเท่านั้น และแคมเปญการหาเสียงของทิโมธี่ก็จบลงเมื่อเขาถูกจับในข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกับที่จอห์นกำลังนั่งเขียนเพลงให้เขาอยู่นั่นเอง
การที่ทิโมธี่ถูกจับทำให้สัญญาการแต่งเพลงให้กันระหว่างเขาและจอห์นจบลงโดยปริยาย จอห์นมอบเพลงนี้ให้ The Beatles เขาเล่าว่าเขาเขียนเนื้อเพลงส่วนใหญ่ในห้องอัดนั่นแหละโดยมีเพื่อนๆในวงช่วยๆกัน รวมทั้งจอร์จ, ผู้ซึ่งยืนยันว่าเขาได้แนะนำคำบางคำให้ด้วย อันเป็นคำที่จอร์จเรียกว่าเป็นคำแบบ"ติงต๊อง" นี่เป็นอะไรที่หลุดพ้นจากสารที่ทิโมธี่ต้องการจะสื่อในตอนแรกโดยสิ้นเชิง แต่มันกลับสะท้อนให้เห็นรสนิยมของอารมณ์ขันไร้ความหมายในแบบของเลนนอน ที่น่าสนใจก็คือ เพลงนี้มีอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเพลง "You Can't Catch Me" เพลงในปี 1956 ของ Chuck Berry สองเพลงนี้มีประโยคที่เกี่ยวเนื่องกัน เบอรี่เขียนไว้ว่า Here come old flat top / He was movin' up with me ขณะที่เนื้อเพลงของจอห์นมีประโยค Here come old flat top / he come groovin' up slowly
หลังจากซิงเกิ้ลนี้ออกมา Morris Levy อดีตเจ้าของคลับ Birdland ในนิวยอร์คและเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เพลง "You Can't Catch Me" ฟ้องจอห์นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เขาบอกว่าเพลงของจอห์นมีทำนองคล้ายเพลงของเบอรี่และเนื้อหานั้นยิ่งเหมือนเข้าไปใหญ่ มีการตกลงกันได้ในวันที่ 12 ตุลาคม 1973 โดยจอห์นตกลงที่จะนำเพลงในลิขสิทธิ์ของ Levy 3 เพลงมาบันทึกเสียงในอัลบั้มต่อไปของเขาอันจะมีชื่อว่า- Rock 'n' Roll แต่การทำอัลบั้มนั้นให้เสร็จมันกินเวลามากกว่าที่คาดกันไว้ จอห์นเริ่มต้นทำงานแต่เซสชั่นการบันทึกเสียงกลายเป็นความวุ่นวายโกลาหล เขาแยกตัวออกมาจากโยโกะในช่วงปี 1973-1975 (เรียกกันว่าเป็นช่วง "สุดสัปดาห์อันว้าเหว่" (Lost Weekend) อันโด่งดังในตำนานของเลนนอน) Levy หมดสิ้นความอดทน เขาตัดสินใจปล่อยแผ่นเสียงชื่อ "Roots" ออกมาในเดือนก.พ. 1975 มันเป็นเทปการซ้อมเล่นๆของจอห์นและลูกวงที่มีคุณภาพเสียงย่ำแย่และไม่ได้ตั้งใจจะทำออกขาย มันขายไปได้เพียง 1,270 ชุด จอห์นฟ้องเลวี่ให้หยุดการจำหน่ายอัลบั้มนี้ และเขาชนะ
หลังจากนั้นไม่กี่ปี Timothy Leary ออกมากล่าวตำหนิจอห์นว่าเขา"ขโมยไอเดีย" แต่จอห์นไม่ยอมรับ เขาเถียงว่าเขาไม่ได้เป็นหนี้อะไร Leary สักนิด ทั้งหมดที่ดูแสนจะวุ่นวาย แต่สุดท้ายในปี 1980 จอห์นก็สารภาพกับ David Sheff (นักสัมภาษณ์จากนิตยสารเพลย์บอย) ว่ามันเป็นหนึ่งในเพลงที่เขาชอบที่สุด "มันฟังกี้,มันบลูส์ และผมร้องมันได้เจ๋งทีเดียว ผมชอบสุ้มเสียงของมันในแผ่นเสียง คุณจะเต้นรำไปกับมันก็ได้ เป็นผมๆก็ซื้อมันนะ!"
หลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์, จอห์นกลับมา Abbey Road ในวันที่ 9 ก.ค. นับตั้งแต่เพลง "The Ballad of John and Yoko" เขาไม่ได้เขียนอะไรใหม่เลย แต่ในวันที่ 21 ก.ค. เขานำเสนอ "Come Together" ให้เพื่อนๆ และมันก็กลายเป็นหนึ่งในเพลงเอกของเขา ครั้งแรกที่จอห์นเล่นมันให้พอลฟังด้วยกีต้าร์โปร่ง พอลบอกทันทีว่ามันมีส่วนเหมือน 'You Can't Catch Me" ของ Chuck Berry มากทีเดียว เขาแนะนำให้ทำการ "โม" มันให้มากที่สุดเพื่อที่จะให้ได้เสียงที่หม่นมัวและจังหวะที่ช้าลง ผลก็คือท่อนเบสริฟฟ์ที่มหึมา,ลึกล้ำ และการเล่นกลองที่แสนเลอเลิศของริงโก้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของเพลงไปเลย
ในเบสิกแทร็ค จอห์นร้องเสียงไกด์ ,ปรบมือในช่วงอินโทร และเล่นแทมโบรีน จอร์จ-ริธึ่มกีต้าร์,พอล-เบส และริงโก้-กลอง เสียงออกมาน่ายำเกรงนัก จอร์จเอ่ยไว้ในปี 1969 ว่า "Come Together เป็นหนึ่งในสิ่งที่แจ่มแจ๋วที่สุดที่เราทำกันไว้ในแง่ดนตรี ริงโก้ตีกลองได้ยอดมาก" พวกเขาอัดเสียง "Come Together" กันด้วยเทปสี่แทร็ค และนำเทค 6 ที่เลือกกันแล้วว่าดีที่สุด ทรานสเฟอร์ต่อลงไปในเทปแปดแทร็ค
วันที่ 21 ก.ค. ยังเป็นวันที่ Geoff Emerick กลับมาทำงานที่ Abbey Roadในฐานะ full-time freelance sound engineer ให้ EMI อีกครั้ง เขาลาออกไปหลังจากทนความกดดันใน White Album recording sessions ไม่ไหว และคราวนี้ แม้ว่าพวกสี่เต่าทองจะเข้ากันได้ดีขึ้น แต่ความตึงเครียดก็ยังอยู่ในระดับสูง วันต่อมาจอห์นโอเวอร์ดับเสียงร้องของเขาพร้อมด้วยการใส่ดีเลย์สั้นๆลงไปด้วย เขาร้องคำว่า shoot me ที่เราจะได้ยินแค่คำว่า shoot เพราะเสียงเบสตามมากลบคำว่า me หมด (คนคิดมากอาจคิดว่านี่เป็นลางร้ายในอนาคตที่จอห์นจะต้องถูกยิงตายในปี 1980)
Emerick เล่าว่าพอลเล่นท่อนเปียโนให้จอห์นฟังเผื่อจะเอามาใช้ในเพลง จอห์นฟังแล้วก็ชอบ แต่เขาขอเล่นด้วยตัวเอง! มีการเพิ่ม maracas และริธึ่มกีต้าร์ลงไปอีก พอลยังขอร้องประสานเสียงร่วมกับจอห์นด้วย แต่จอห์นกลับตอบว่า "อย่ากังวลไปเลย, ไอจะโอเวอร์ดับเสียงไอเองในเพลงนี้" แต่เรื่องนี้พอลเล่าว่า "ใน Come Together ผมอยากจะร้องประสานกับจอห์น และผมก็คิดว่าจอห์นก็คงอยากได้ผมไปร้องด้วย แต่ผมรู้สึกเขินเกินไปกว่าที่จะไปบอกเขาตรงๆ และผมก็ไม่ได้พยายามเต็มที่ในสถานการณ์นั้น" จอห์นอ้างว่าเขาได้ขอให้เพื่อนร่วมวงทั้งสามช่วยกันเรียบเรียงเพลงนี้ เขารู้ดีว่า,ด้วยประสบการณ์ของทั้งสาม,พวกเขาจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร "ผมคิดว่าส่่วนหนึ่งเป็นเพราะเราได้เล่นด้วยกันมาเป็นเวลานานแสนนาน ดังนั้นผมจึงพูดว่า 'ขออะไรฟังกี้ๆหน่อยเพื่อน'"
การบันทึกเสียงดำเนินต่อไป มีการอัดเสียงกีต้าร์หลายท่อนเพิ่มเติม รวมทั้งท่อนโซโล่มหากาฬของจอร์จ พอลอัดเสียงหายใจหนักหน่วงในตอนท้ายแต่หลังจากการมิกซ์เสียงนี้ก็ถูกกลบหายไป พวกเขาทำสเตอริโอมิกซ์ขั้นสุดท้ายกันในวันที่ 7 สิงหาคม 1969
No comments:
Post a Comment