มันคือวันที่ 22 สิงหาคม 1968 ริงโก้ สตาร์เดินออกจากเซสชั่นการบันทึกเสียงเพื่ออัลบั้ม The White Album เขาไม่อาจทนความเครียดที่เกิดขึ้นในวงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอีกต่อไป ไหนยังจะคำวิพากษ์วิจารณ์ของพอลที่ทำให้เขาถึงกับสงสัยในความสามารถด้านตีกลองของตัวเอง ด้วยความผิดหวัง, ขมขื่น และหมดแรง มือกลองหนุ่มพาภรรยาและลูกๆไปตากอากาศแก้เซ็งที่ Sardinia ด้วยเรือยอชท์ที่ยืมมาจากเพื่อนดาราของเขา, ปีเตอร์ เซลเลอร์ส ในมื้อกลางวันหนึ่งของการพักผ่อนนี้ ริงโก้พบว่าอาหารที่เสิร์ฟไม่ใช่ fish and chips ที่คุ้นเคย แต่เป็น...ปลาหมึกยักษ์ เขาไม่เคยกินอะไรแบบนี้มาก่อน กัปตันเล่าให้ฟังถึงพฤติกรรมแปลกๆของเจ้าหมึกยักษ์นี้ มันจะชอบสะสมและจัดวางเปลือกหอยสวยๆงามๆไว้รอบๆถ้ำของมันราวกับมันเป็นสวนเล็กๆ ริงโก้ชอบใจและนำมันไปเขียนเพลงเกี่ยวกับสวนของหมึกยักษ์นี้ทันที มันคือผลงานการประพันธ์ชิ้นที่สองของเขาต่อจาก Don't Pass Me By ใน The White Album
หลังจากกลับจาก Sardinia ริงโก้นำเสนอเพลงนี้ให้ทางวงพิจารณา แต่มันก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ใน The White Album แต่อย่างใด The Beatles เริ่มนำ Octopus's Garden มาเล่นกันครั้งแรกในเดือนมกราคม 1969 ใน Get Back sessions ที่ Twickenham Film Studios ในภาพยนตร์ Let It Be เราจะได้เห็นจอร์จช่วยริงโก้แต่งท่อนบริดจ์ของเพลงนี้ด้วยเปียโน จอร์จแนะนำให้ริงโก้เริ่มเพลงนี้ด้วยคอร์ดเมเจอร์แทนที่จะเป็นไมเนอร์ จอร์จ มาร์ตินจ้องมองอยู่อย่างสนใจ ส่วนจอห์น เลนนอน ช่วยตีกลอง!
แม้เพลงนี้จะดูขำๆ ฮาๆ แต่ถ้าเรามองดูเนื้อเพลงดีๆจะพบว่ามันอาจจะบอกอะไรบางอย่างถึงความยากลำบากของวงในขณะนั้น วลีอย่าง We would be warm, below the storm และ We would be so happy you and me / no one there to tell us what to do อาจจะเป็นการบรรยายด้วยจิตใต้สำนึกถึงตัวริงโก้และจอร์จและความเครียดเค้นที่พวกเขารู้สึกได้ ก่อนที่จะถึงเวลาวงแตก
เมษายน 1969 ที่ Abbey Road ริงโก้, ผู้ไม่ได้ร้องเพลงอะไรเลยใน Get Back sessions จับไมค์ร้องเพลงที่เขาแต่งเองนี้ โดยพอลและจอร์จอยู่ในอารมณ์แจ่มใส ส่วนจอห์นเดินไปเดินมาไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน Geoff Emerick เล่าว่า พอลและจอร์จกระตือรือร้นมากกับการเล่นเพลงนี้ราวกับเป็นเพลงของพวกเขาเอง พวกเขาเริ่มเล่นเพลงนี้กันจริงๆจังๆเพื่อการบันทึกเสียงในวันที่ 26 เมษายน อัดกันไปสามสิบสองเทคเป็นอย่างน้อย โดยมีพอลเล่นเบส, จอร์จโซโลกีต้าร์อย่างเฉียบขาด มันเป็นการพิสูจน์อีกครั้งถึงความยอดเยี่ยมของฝีมือของเขา ณ ขณะนั้น ริงโก้ตีกลองและร้องไปด้วย ใน Anthology 3 เราจะได้ยินริงโก้ล้อเลียนตัวเองหลังจากจบเทค 8 ว่า "เฮ้ มันยอดไปเลยโว้ย!" พอลเติมเสียงเปียโนสไตน์เวย์เพี้ยนๆ และเนื่องจากเพลงนี้ค่อนข้างจะเรียบง่าย การบันทึกเสียงในวันแรกนี้จึงออกมาใกล้เคียงกับ final version วันนี้จอร์จ มาร์ตินไม่อยู่ในห้องอัด เครดิตโปรดิวเซอร์จึงเป็นของ คริส โธมัส และ เดอะ บีทเทิลส์ เอง
สามวันต่อมา ริงโก้ซึ่งไม่พอใจกับเสียงร้องของเขานัก อัดเสียงร้องทับลงไปอีกที จากนั้นเพลงก็ถูกเก็บขึ้นหิ้งยาวไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจึงมีการโอเวอร์ดับและมิกซ์ พอลและจอร์จให้เสียงร้องประสานแบบ falsetto พอลเติมเปียโนอีกหน่อย และจอร์จใส่กีต้าร์ลงไปอีกนิด จอห์นช่วยริธึ่มกีต้าร์ ริงโก้เป่าฟองอากาศลงไปในแก้วน้ำ เทคนิคเดิมๆที่เคยใช้ใน Yellow Submarine ที่เขาก็ร้องนำเช่นกัน และเกี่ยวกับทะเลเช่นกัน
วันต่อมาริงโก้ร้องนำครั้งสุดท้ายและเติมเสียงกลองทอมทอมลงไปก่อนท่อนสร้อยทุกท่อน การมิกซ์ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในวันที่ 18 ก.ค. 1969 น่าสนใจที่มีการมิกซ์แบบโมโนด้วย แต่ก็ยังไม่เคยมีการนำออกเผยแพร่จนทุกวันนี้
No comments:
Post a Comment