Tuesday, 2 July 2019

Would you believe in a love at first sight?



Would you believe in a love at first sight?
Yes, I'm certain that it happens all the time
(from 'With A Little Help From My Friends" written by John Lennon & Paul McCartney)

ใช่, ผมเชื่อว่ารักแรกพบมีจริง
แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาหรอกนะ

เมื่อเพื่อนคนหนึ่งให้ผมยืมแผ่นเสียงเก่าๆ (น่าจะเป็นของญาติเขา) ที่มีหน้าปกเป็นชายสี่คนเดิมข้ามทางม้าลายนี้มาฟังที่บ้าน นั่นคือครั้งหนึ่งที่เรียกได้เต็มปากว่าคือรักแรกพบ (ยิน) ผมฟัง Abbey Road ด้วยข้อมูลที่มีบนปกหน้าและหลังแผ่นเสียงเท่านั้น ไม่รู้อะไรมากกว่า ไม่ทราบว่ามันคืองานสุดท้ายของพวกเขา มันน่าจะเป็นราวปี 1981 หลังจาก John Lennon เสียชีวิตไม่นาน และ สิบสองปี หลังจากโลกได้รู้จักอัลบั้มนี้ ณ ขณะนี้ ผมก็กำลังฟังมันอยู่ ไม่ใช่จากแผ่นเสียงแผ่นนั้น แต่เป็นการฟังจากเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ห่างไกลออกไป สตรีมมิ่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผมไม่อาจบอกคุณได้ว่ามันเป็นรอบที่เท่าไหร่ เพียงแต่บอกได้ว่ารักแรกพบนี้ไม่ได้จืดจางลงเลยแม้แต่นิดเดียว

เมื่อมีการถามถึงลิสต์อัลบั้มที่ชอบที่สุด ให้จัดกี่ครั้งก็คงแตกต่างกันออกไป แต่อันดับหนึ่งของผมไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่วันนั้นมา

เป็นการยากที่จะบอกว่าชอบอะไรในสิ่งที่คุณใกล้ชิดกับมันมากมายและแสนนานขนาดนี้ คุณคงให้อภัยที่มันจะเป็นรีวิวที่เอียงกะเท่เร่

The Beatles ไม่จำเป็นต้องทำอัลบั้มนี้ พวกเขาก็คงจะเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากนี้มากนัก พวกเขาสามารถจะเลิกรากันไปตั้งแต่ความล้มเหลวไม่เป็นท่าในการทำ Let It Be (ตอนนั้นเรียกว่า Get Back project) ก็ได้ เหมือนกับวงดนตรีระดับพระกาฬหลายๆวงที่มักจะวางมือกันไปด้วยงานที่เจ๊ง หรือพวกเขาอาจจะแตกสลายไปก่อนหน้านั้นด้วยอัลบั้ม White Album และทิ้งเพลง Good Night ให้เป็นเพลงอำลาตลอดกาล...ก็ยังได้

แต่พระเจ้าองค์ที่เขียนบทตอนนี้ คงไม่ประสงค์ให้เรื่องราวของสี่เต่าทองจบลงแบบไม่แฮปปี้ ท่านดลใจให้พวกเขา "ฮึด" เป็นครั้งสุดท้าย โทรศัพท์เรียกโปรดิวเซอร์คู่บุญ จอร์จ มาร์ติน กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งมาร์ตินก็ตอบรับ ด้วยข้อแม้ง่ายๆ ว่าได้สิ แต่เราต้องทำงานกันแบบเดิมๆนะ มันเป็นข้อแม้ที่สำคัญเหลือเกิน

แม้ว่า Abbey Road จะไม่ถึงกับเป็นการย้อนกลับไปทำงานแบบร่วมมือร่วมใจเหมือนเดิมในยุคของ Sgt. Pepper หรือ Revolver ก็ตาม หลายครั้งที่พวกเขาไม่ได้อยู่ร่วมกันในห้องอัด แต่ผลงานที่ออกมาก็มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับที่คนฟังอย่างเราๆรู้สึกได้ เราไม่ได้รู้อะไรมากนักหรอกในสมัยนั้น เราก็แค่ฟังจากเพลงที่พวกเขาทำออกมา

ขณะที่พวกเขาเล่นดนตรีบันทึกเสียงกัน ไม่มีใครในเซสชั่นประกาศออกมาหรอกว่า นี่จะเป็นอัลบั้มสุดท้ายของ The Beatles แล้วนะ แต่จากปากคำของหลายๆคนที่มาเล่าให้ฟังภายหลัง ลึกๆแล้ว พวกเขารู้อยู่แก่ใจว่า นี่คงจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะทำงานร่วมกัน

ขอบคุณที่โลกยุคนั้น คนยังฟังเพลงกันด้วยสื่อที่แบ่งอัลบั้มออกเป็นสองหน้า เพราะความดรามาติกของหลายๆอัลบั้มรวมทั้ง Abbey Road คงจะจืดจางลงไปเยอะ ถ้าเปิดฟังกันรวดเดียวไม่มีการกลับด้านแผ่นหรือเทป แม้ทุกวันนี้จะฟังจากสตรีมมิ่ง แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะความทรงจำของเราจะย้ำเตือนอยูแล้วโดยอัตโนมัติ ว่านี่คือเวลาของด้านไหนของแผ่นเสียง

เป็นที่รู้กันว่าหน้าแรกคือหน้าของ 'rocker' ในแบบที่เลนนอนชอบ

และหน้าสองคือหน้าของ 'medley' ในแบบที่แมคคาร์ทนีย์คุม อย่าถามผมว่าชอบหน้าไหนมากกว่ากัน เพราะผมจะตอบแบบซื่อตรงว่าเท่ากัน ความยอดเยี่ยมของแต่ละเพลงคงไม่ต้องสาธยายกันอีก ถ้าคุณเคยฟังคุณคงทราบดี แต่ถ้าไม่เคย, ผมคงไม่สปอยล์มันตรงนี้

จากชื่อเพลงที่เหมือนประกาศการทำงานร่วมกันอีกครั้งใน Come Together จนถึงเพลงสุดท้ายที่"สุดท้าย"เสียออกนอกหน้าใน The End นี่คือการเขียนบทที่ทรงพลังที่สุดของพระเจ้า ในที่สุดตำนานบทนี้ก็จบลงแบบ happy ending

ความรักไม่ใช่คณิตศาสตร์ แต่ถ้ามันจะมีสมการสักสมการที่ไว้อธิบาย The Beatles ตั้งเอาไว้ให้แล้วในประโยคสุดท้ายในเพลงสุดท้ายของพวกเขา ที่เป็นคำตอบว่าทำไม The Beatles ถึงเป็นที่รักท่วมท้นเหลือเกิน......

ในท้ายสุดแล้ว รักที่คุณจะได้รับ=รักที่คุณได้สร้าง

และจากนี้ไป... ผมจะเล่าเรื่องราวของทุกเพลงใน Abbey Road ให้คุณฟังกัน

Come Together


แรงบันดาลใจของเพลงนี้นั้นมีหลายแง่มุมและเป็นที่ถกเถียงกัน ด้านหนึ่งเป็น Timothy Leary อีกด้านหนึ่งคือ Chuck Berry "Come Together" เดิมเป็นสโลแกนของทิโมธี่ ผู้เป็นนักจิตวิทยา,นักเขียน,นักปรัชญาและเป็นหนึ่งในสาวกของ LSD ที่เขาใช้ในการรณรงค์หาเสียงในการลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีแห่งแคลิฟอร์เนีย (คู่แข่งของเขาคือ โรนัลด์ รีแกน) สโลแกนเต็มๆของทิโมธี่คือ "Come together, join the party" คำว่าปาร์ตี้ในที่นี้อาจตีความได้สองความหมาย พรรคการเมือง หรือการชุมนุมเสพยากันตามวัฒนธรรมยอดฮิตยุคนั้น
วันที่ 30 พ.ค.ธิโมธี่เดินทางไปเยี่ยมจอห์นและโยโกะขณะที่ทั้งสองกำลังทำพิธีกรรม Bed-In อันโด่งดังอยู่ที่ Montreal เขาขอร้องให้จอห์นแต่งเพลงช่วยเขาหาเสียงในงานนี้ จอห์นนั้นชื่นชมทิโมธี่อยู่แล้ว เขาจึงตอบตกลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขาจะพยายามอยู่หลายต่อหลายครั้ง จอห์นก็พบว่าเขาไม่มีแก่ใจจะแต่งมันได้ สุดท้ายจอห์นก็เลยเขียนเพลงๆหนึ่งที่แทบไม่มีอะไรเกี่ยวกับไอเดียเริ่มแรกเลย ยกเว้นชื่อเพลงเท่านั้น และแคมเปญการหาเสียงของทิโมธี่ก็จบลงเมื่อเขาถูกจับในข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกับที่จอห์นกำลังนั่งเขียนเพลงให้เขาอยู่นั่นเอง
การที่ทิโมธี่ถูกจับทำให้สัญญาการแต่งเพลงให้กันระหว่างเขาและจอห์นจบลงโดยปริยาย จอห์นมอบเพลงนี้ให้ The Beatles เขาเล่าว่าเขาเขียนเนื้อเพลงส่วนใหญ่ในห้องอัดนั่นแหละโดยมีเพื่อนๆในวงช่วยๆกัน รวมทั้งจอร์จ, ผู้ซึ่งยืนยันว่าเขาได้แนะนำคำบางคำให้ด้วย อันเป็นคำที่จอร์จเรียกว่าเป็นคำแบบ"ติงต๊อง" นี่เป็นอะไรที่หลุดพ้นจากสารที่ทิโมธี่ต้องการจะสื่อในตอนแรกโดยสิ้นเชิง แต่มันกลับสะท้อนให้เห็นรสนิยมของอารมณ์ขันไร้ความหมายในแบบของเลนนอน ที่น่าสนใจก็คือ เพลงนี้มีอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเพลง "You Can't Catch Me" เพลงในปี 1956 ของ Chuck Berry สองเพลงนี้มีประโยคที่เกี่ยวเนื่องกัน เบอรี่เขียนไว้ว่า Here come old flat top / He was movin' up with me ขณะที่เนื้อเพลงของจอห์นมีประโยค Here come old flat top / he come groovin' up slowly
หลังจากซิงเกิ้ลนี้ออกมา Morris Levy อดีตเจ้าของคลับ Birdland ในนิวยอร์คและเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เพลง "You Can't Catch Me" ฟ้องจอห์นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เขาบอกว่าเพลงของจอห์นมีทำนองคล้ายเพลงของเบอรี่และเนื้อหานั้นยิ่งเหมือนเข้าไปใหญ่ มีการตกลงกันได้ในวันที่ 12 ตุลาคม 1973 โดยจอห์นตกลงที่จะนำเพลงในลิขสิทธิ์ของ Levy 3 เพลงมาบันทึกเสียงในอัลบั้มต่อไปของเขาอันจะมีชื่อว่า- Rock 'n' Roll แต่การทำอัลบั้มนั้นให้เสร็จมันกินเวลามากกว่าที่คาดกันไว้ จอห์นเริ่มต้นทำงานแต่เซสชั่นการบันทึกเสียงกลายเป็นความวุ่นวายโกลาหล เขาแยกตัวออกมาจากโยโกะในช่วงปี 1973-1975 (เรียกกันว่าเป็นช่วง "สุดสัปดาห์อันว้าเหว่" (Lost Weekend) อันโด่งดังในตำนานของเลนนอน) Levy หมดสิ้นความอดทน เขาตัดสินใจปล่อยแผ่นเสียงชื่อ "Roots" ออกมาในเดือนก.พ. 1975 มันเป็นเทปการซ้อมเล่นๆของจอห์นและลูกวงที่มีคุณภาพเสียงย่ำแย่และไม่ได้ตั้งใจจะทำออกขาย มันขายไปได้เพียง 1,270 ชุด จอห์นฟ้องเลวี่ให้หยุดการจำหน่ายอัลบั้มนี้ และเขาชนะ
หลังจากนั้นไม่กี่ปี Timothy Leary ออกมากล่าวตำหนิจอห์นว่าเขา"ขโมยไอเดีย" แต่จอห์นไม่ยอมรับ เขาเถียงว่าเขาไม่ได้เป็นหนี้อะไร Leary สักนิด ทั้งหมดที่ดูแสนจะวุ่นวาย แต่สุดท้ายในปี 1980 จอห์นก็สารภาพกับ David Sheff (นักสัมภาษณ์จากนิตยสารเพลย์บอย) ว่ามันเป็นหนึ่งในเพลงที่เขาชอบที่สุด "มันฟังกี้,มันบลูส์ และผมร้องมันได้เจ๋งทีเดียว ผมชอบสุ้มเสียงของมันในแผ่นเสียง คุณจะเต้นรำไปกับมันก็ได้ เป็นผมๆก็ซื้อมันนะ!"
หลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์, จอห์นกลับมา Abbey Road ในวันที่ 9 ก.ค. นับตั้งแต่เพลง "The Ballad of John and Yoko" เขาไม่ได้เขียนอะไรใหม่เลย แต่ในวันที่ 21 ก.ค. เขานำเสนอ "Come Together" ให้เพื่อนๆ และมันก็กลายเป็นหนึ่งในเพลงเอกของเขา ครั้งแรกที่จอห์นเล่นมันให้พอลฟังด้วยกีต้าร์โปร่ง พอลบอกทันทีว่ามันมีส่วนเหมือน 'You Can't Catch Me" ของ Chuck Berry มากทีเดียว เขาแนะนำให้ทำการ "โม" มันให้มากที่สุดเพื่อที่จะให้ได้เสียงที่หม่นมัวและจังหวะที่ช้าลง ผลก็คือท่อนเบสริฟฟ์ที่มหึมา,ลึกล้ำ และการเล่นกลองที่แสนเลอเลิศของริงโก้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของเพลงไปเลย
ในเบสิกแทร็ค จอห์นร้องเสียงไกด์ ,ปรบมือในช่วงอินโทร และเล่นแทมโบรีน จอร์จ-ริธึ่มกีต้าร์,พอล-เบส และริงโก้-กลอง เสียงออกมาน่ายำเกรงนัก จอร์จเอ่ยไว้ในปี 1969 ว่า "Come Together เป็นหนึ่งในสิ่งที่แจ่มแจ๋วที่สุดที่เราทำกันไว้ในแง่ดนตรี ริงโก้ตีกลองได้ยอดมาก" พวกเขาอัดเสียง "Come Together" กันด้วยเทปสี่แทร็ค และนำเทค 6 ที่เลือกกันแล้วว่าดีที่สุด ทรานสเฟอร์ต่อลงไปในเทปแปดแทร็ค
วันที่ 21 ก.ค. ยังเป็นวันที่ Geoff Emerick กลับมาทำงานที่ Abbey Roadในฐานะ full-time freelance sound engineer ให้ EMI อีกครั้ง เขาลาออกไปหลังจากทนความกดดันใน White Album recording sessions ไม่ไหว และคราวนี้ แม้ว่าพวกสี่เต่าทองจะเข้ากันได้ดีขึ้น แต่ความตึงเครียดก็ยังอยู่ในระดับสูง วันต่อมาจอห์นโอเวอร์ดับเสียงร้องของเขาพร้อมด้วยการใส่ดีเลย์สั้นๆลงไปด้วย เขาร้องคำว่า shoot me ที่เราจะได้ยินแค่คำว่า shoot เพราะเสียงเบสตามมากลบคำว่า me หมด (คนคิดมากอาจคิดว่านี่เป็นลางร้ายในอนาคตที่จอห์นจะต้องถูกยิงตายในปี 1980)
Emerick เล่าว่าพอลเล่นท่อนเปียโนให้จอห์นฟังเผื่อจะเอามาใช้ในเพลง จอห์นฟังแล้วก็ชอบ แต่เขาขอเล่นด้วยตัวเอง! มีการเพิ่ม maracas และริธึ่มกีต้าร์ลงไปอีก พอลยังขอร้องประสานเสียงร่วมกับจอห์นด้วย แต่จอห์นกลับตอบว่า "อย่ากังวลไปเลย, ไอจะโอเวอร์ดับเสียงไอเองในเพลงนี้" แต่เรื่องนี้พอลเล่าว่า "ใน Come Together ผมอยากจะร้องประสานกับจอห์น และผมก็คิดว่าจอห์นก็คงอยากได้ผมไปร้องด้วย แต่ผมรู้สึกเขินเกินไปกว่าที่จะไปบอกเขาตรงๆ และผมก็ไม่ได้พยายามเต็มที่ในสถานการณ์นั้น" จอห์นอ้างว่าเขาได้ขอให้เพื่อนร่วมวงทั้งสามช่วยกันเรียบเรียงเพลงนี้ เขารู้ดีว่า,ด้วยประสบการณ์ของทั้งสาม,พวกเขาจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร "ผมคิดว่าส่่วนหนึ่งเป็นเพราะเราได้เล่นด้วยกันมาเป็นเวลานานแสนนาน ดังนั้นผมจึงพูดว่า 'ขออะไรฟังกี้ๆหน่อยเพื่อน'"
การบันทึกเสียงดำเนินต่อไป มีการอัดเสียงกีต้าร์หลายท่อนเพิ่มเติม รวมทั้งท่อนโซโล่มหากาฬของจอร์จ พอลอัดเสียงหายใจหนักหน่วงในตอนท้ายแต่หลังจากการมิกซ์เสียงนี้ก็ถูกกลบหายไป พวกเขาทำสเตอริโอมิกซ์ขั้นสุดท้ายกันในวันที่ 7 สิงหาคม 1969

Something


จอร์จแต่ง "Something" ด้วยเปียโนระหว่างการบันทึกเสียง White Album ในปี 1968 เขาเขียนมันอย่างรวดเร็วในสตูดิโอ 1 ที่เป็นห้องเดียวที่เหลือในขณะนั้น เพราะพอลใช้สตูดิโอ 2 อยู่ จอร์จเขียนเพลงนี้อย่างลื่นไหลจนเขาแปลกใจว่าอะไรมันจะมาง่ายขนาดนั้น ในการอัดเสียงเพลงนี้ เขาไม่ได้คิดถึง The Beatles แต่กลับเป็น เรย์ ชาร์ลส์ ผู้ซึ่งต่อมาก็นำเพลงนี้ไปร้องในอัลบั้ม Volcanic Action of My Soul ของเขาในปี 1971
จอร์จไม่ได้มีไอเดียอะไรสำหรับเนื้อเพลงๆนี้ แม้ว่าแพ๊ตตี้ บอยด์ ภรรยาคนแรกของเขาจะอ้างในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอว่าจอร์จเขียน"Something" ให้เธอโดยเฉพาะ บรรทัดแรกของเพลงนี้นำมาจากชื่อเพลง "Something In The Way She Moves" ของ James Taylor ผู้ซึ่งเพิ่งเซ็นสัญญากับ Apple ในการออกอัลบั้มเปิดตัวของเขาในปี 1968 ประโยคของเทย์เลอร์กลายเป็นเนื้อเพลงหลักที่จอร์จไม่เปลี่ยนแปลง เหลือเพียงท่อนบริดจ์ที่ต้องแต่งกันต่อ ในปี 1969 จอร์จบอกนักข่าว David Wigg ว่า จอห์นได้แนะนำเคล็ดลับบางอย่างให้เขา ".....เมื่อใดที่คุณเริ่มต้นเขียนเพลง พยายามแต่งมันให้จบขณะที่คุณยังอยู่ในอารมณ์เดิมขณะนั้น...."จอร์จเล่าต่อว่า "หลายครั้งที่คุณกลับไปทำมันต่อและพบว่าคุณอยู่ในสภาพจิตใจที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น,ตอนนี้ผมจึงพยายามทำมันให้เสร็จรวดเดียว"
19 กันยายน 1968 ขณะที่จอร์จกำลังทำเพลง "Piggies" อยู่ ระหว่างเทค เขาเล่นเพลง "Something" ให้คริส โธมัสฟัง (คริสรับหน้าที่โปรดิวเซอร์แทนจอร์จ มาร์ติน ในวันนั้น) โธมัสบอกจอร์จว่า "นั่นมันยอดมาก! ทำไมเราไม่ทำเพลงนี้แทนล่ะ?" จอร์จตอบว่า "นายชอบมันหรือ นายคิดจริงๆหรือว่ามันดี?" เมื่อโธมัสบอกว่าใช่ จอร์จบอกว่า "โอ, งั้นบางทีฉันอาจจะเอามันให้ Jackie Lomax นะ เขาอาจจะออกมันเป็นซิงเกิ้ลได้!" แต่สุดท้าย "Something" ก็ได้เปิดตัวใน Abbey Road และเป็นซิงเกิ้ลหน้าเอของ The Beatles มันเป็นซิงเกิ้ลหน้าเอเพลงแรกของจอร์จในประวัติศาสตร์ของวง ทุกวันนี้ "Something" เป็นหนึ่งในยี่สิบเพลงที่มีคนนำมาเล่นใหม่มากที่สุดในโลก
จอห์น เลนนอนคิดว่า "Something" เป็นแทร็คที่ดีที่สุดในอัลบั้ม ส่วนจอร์จ มาร์ตินก็รู้สึกแปลกใจที่จอร์จสามารถแต่งเพลงที่มีคุณภาพได้ถึงระดับนี้-ระดับเดียวกับเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์เลยทีเดียว มาร์ตินรู้สึกละอายใจที่เขาไม่ได้ใส่ใจจอร์จมากเท่าจอห์นและพอล เขากล่าวไว้ว่า "Something เป็นเพลงที่มหัศจรรย์ แต่เราไม่ได้ให้เครดิตเขาเพียงพอ และเราไม่เคยคิดมาก่อนว่าเขาจะกลายมาเป็นยอดนักแต่งเพลง" ส่วนริงโก้สรุปไว้ว่า "มันน่าสนใจตรงที่ว่า จอร์จได้ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าตอนที่เรากำลังจะแตกวงพอดี"
25 ก.พ. 1969 วันเกิดครบรอบ 26 ปีของจอร์จ แฮริสัน เขาเดินเข้าไปใน Abbey Road คนเดียวเพื่ออัดเดโม 8 แทร็คสำหรับเพลงสามเพลงของเขา "Old Brown Shoe", "All Things Must Pass" และ "Something" "Old Brown Shoe" ต่อมากลายเป็นหน้าบีของซิงเกิ้ล "The Ballad of John and Yoko" ส่วน "All Things Must Pass" ไปอยู่ในอัลบั้มเดียวสามแผ่นของจอร์จที่จะออกในปี 1970 ส่วน "Something" กลายเป็นเพลงของ Beatles ที่มีคนนำมา cover มากที่สุดรองจาก "Yesterday" วันนั้นจอร์จเหมาคนเดียวทั้งกีต้าร์,เปียโนและร้อง โดยมี Ken Scott อยู่ใน control room เวอร์ชั่นแรกนี้มันออกไปในแนวนุ่มนวลอย่างยิ่ง เนื้อเพลงบางส่วนถูกตัดไปใน final version และกลายเป็นท่อนโซโลกีต้าร์แทน The Beatles เริ่มเล่นเพลงนี้ในวันที่ 16 เมษายน 1969 และในวันที่ 2 พ.ค. พวกเขาก็ได้เทคที่ดีที่สุด (36) อันมีจอร์จเล่นกีต้าร์ผ่าน Leslie speaker, พอลเล่นเบส, จอห์นกีต้าร์โปร่ง,บิลลี่ เพรสตันเล่นเปียโน และกลองโดยริงโก้ เทค 36 นี้มีความยาวถึง 7:48 โดยมีท่อน coda ตอนท้ายเพลงยาวกว่า 4 นาที ส่วนใหญ่ของท่อน coda นี้จะเป็นเสียงเปียโนสี่โน๊ตของจอห์นจนกระทั่ง fade out ต่อมาจอห์นย่อท่อนนี้ลงเหลือ 2:32 และนำมันไปแต่งต่อเป็นเพลง "Remember" ในอัลบั้ม John Lennon/Plastic Ono Band ของเขาในปี 1970
ยังมีเซสชั่นต่อมาตามมาอีก ในวันที่ 5 พ.ค. พอลบันทึกเสียงท่อนเบสของเขาที่ Olympic Sound Studios (ได้ Glyn Johns ควบคุมการบันทึกเสียง) เสียงเบสที่ได้นี้ใช้เทคนิคใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น มันเป็นการผสมระหว่างเสียงที่ได้จากการเสียบเครื่องดนตรีเข้าไปในคอนโซลโดยตรงรวมกับเสียงที่ออกมาจากแอมป์ จอร์จที่ขณะนั้นมีความมั่นใจในตัวเองสูงกว่าสมัยก่อน กล้าพอที่จะวิจารณ์การเล่นเบสของพอล เขาบอกให้พอลเล่นมันให้ธรรมดาลงกว่านี้หน่อย จากนั้นจอร์จก็อัดเสียงโซโล่กีต้าร์ของเขาผ่านลำโพง Leslie

ในวันที่ 11 ก.ค. จอร์จเริ่มบันทึกเสียงร้องนำของเขาเป็นครั้งแรกโดยมีบิลลี่ เพรสตันเล่นออร์แกนไปด้วย ในวันที่ 16 ก.ค. เป็นวันที่จอร์จอัดเสียงร้องในขั้นสุดท้าย เพื่อสร้างอารมณ์และสมาธิ มีการหรี่ไฟในห้องอัดให้จอร์จเป็นพิเศษด้วยขณะที่เขาร้อง พอลเพิ่มเติมเสียงร้องสนับสนุน และพอล,จอร์จ และริงโก้เพิ่มเสียงปรบมือลงไปอีกนิดหน่อย ในวันที่ 15 สิงหาคม มีการอัดเสียงออเคสตร้าสำหรับหลายเพลง "Golden Slumbers", "Carry That Weight", "The End","Here Comes The Sun" และ "Something" ด้วย จอร์จ มาร์ตินเป็นคนเขียนสกอร์และกำกับวงด้วยตัวเองในสตูดิโอ 1 ถึงตอนนี้เหลือเพียงแค่แทร็คเดียวในเทปที่จะบันทึกเสียงกีต้าร์และออเคสตร้า จอร์จต้องเล่นไปพร้อมๆกับวงออเคสตร้าในเทคเดียว และด้วยความมั่นใจ เขาปลดปล่อยท่อนโซโล่อันสุกสกาวนั้นออกมาอย่างหมดจด ในที่สุดการบันทึกเสียง "Something"ก็เสร็จสมบูรณ์ มีการทำสเตอริโอมิกซ์ในวันที่ 19 สิงหาคม และท่อน coda ยาวเหยียดนั้นก็ถูกใครบางคนลบทิ้งไป

Maxwell's Silver Hammer


พอลแต่ง "Maxwell's Silver Hammer" ในปี 1968 ระหว่างการบันทึกเสียง The White Album ก่อนหน้านั้นสองปีเขาสนใจในคอนเซพท์ของ Alfred Jarry เจ้าของหนังสือ Ubu The King ที่เกี่ยวกับ pataphysics อันเป็นปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องเพี้ยนๆและเหนือจริง พอลกล่าวกับเรื่องแนวคิดนี้ที่เขารู้ว่าน้อยคนนักที่จะเข้าใจว่า "ผมเป็นคนๆเดียวที่เคยนำชื่อของ pataphysics ขึ้นอันดับเพลง, เอาน่า! มันเจ๋งดีออก ผมรักมุกเหนือจริงเล็กๆน้อยๆแบบนั้นนะ" แนวคิดหลักของ "Maxwell's Silver Hammer" ก็คือหนทางในการที่จะจัดการกับปัญหาที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนในขณะที่อะไรๆกำลังไปด้วยดี ทำไมเขาถึงต้องให้ฆ้อนนี้เป็นเงินด้วยล่ะ? เขาบอกว่า "ผมไม่รู้ว่าทำไมมันถึงเป็นซิลเวอร์ มันแค่ฟังแล้วเพราะกว่า แม๊กซ์เวลล์'ส แฮมเมอร์ เฉยๆน่ะ"
The Beatles ซ้อมเพลงนี้ในเดือนมกราคม 1969 ที่ Twickenham Film Studios ระหว่างGet Back sessions ในวันที่ 9 ก.ค.พวกเขาเริ่มการบันทึกเสียง 'Maxwell's Silver Hammer" เป็นวันเดียวกับที่จอห์นกลับเข้าห้องอัดหลังจากอุบัติเหตุรถยนต์ในสก๊อตแลนด์ จอห์นไม่ชอบเพลงนี้และขอถอนตัวจากการเล่นมันด้วยเหตุผลว่ามันเป็น "แค่อีกเพลงในแนวคุณปู่ของพอล" พวกเขาเล่นเบสิกแทร็คกันเสร็จเรียบร้อยใน 21 เทค โดยมีพอลเล่นเปียโน,จอร์จเล่นเบส, และริงโก้-กลอง ในวันต่อมาเป็นเรื่องของการโอเวอร์ดับ จอร์จเล่นกีต้าร์ทั้งไฟฟ้าและโปร่ง, พอลร้องดับเบิลแทร็ค และแฮมมอนด์ออร์แกนจากฝีมือของจอร์จ มาร์ติน
ไฮไลท์ของเซสชั่นนี้คือการตี blacksmith's anvil "Bang! Bang!" โดยริงโก้ (จากคำขอร้องของพอล) ในท่อนคอรัส มาล อีแวนส์เป็นคนยืมเครื่องดนตรีแปลกหน้านี้มาจากเอเจนซี่ภาพยนตร์คนหนึ่ง แต่จากปากคำของ Geoff Emerick คนที่ตี anvil นี้คือ Mal Evans "ริงโก้ไม่มีแรงพอที่จะยกฆ้อน ดังนั้นสุดท้ายจึงเป็นมาลที่เป็นคนตี แต่เขาก็ไม่รู้จังหวะในการตี มันจึงใช้เวลาพอสมควรกว่าจะได้เทค"
หลังจากมิกซ์ไปสิบสามรอบ พอลก็ยังไม่พอใจกับมัน เขาอ้อนให้จอห์นมาช่วยร้องสนับสนุน แต่จอห์นส่ายหัว และเลือกที่จะนั่งอยู่ข้างๆโยโกะมากกว่า จอห์นนั่งกอดอกอยู่ด้านหลังห้องอัดสักพักหนึ่งแล้วก็กลับบ้าน จากปากคำของ Tony Clark วิศวกรเสียงคนนึง "ผมมีส่วนร่วมในสามสัปดาห์สุดท้ายของ Abbey Road พวกเขาเปิดห้องอัดสองห้องไปพร้อมๆกัน และผมมีหน้าที่นั่งประจำในสตูดิโอ 2 หรือ 3 ส่วนมากจะเป็น 3 แค่ไปนั่งอยู่ที่นั่น, เผื่อจะมีเต่าทองคนไหนต้องการจะเข้ามาโอเวอร์ดับ ในช่วงนี้ของการทำอัลบั้มผมไม่คิดว่าผมเห็นพวกเขาสี่คนพร้อมๆกัน"
จอห์น "ผมคิดว่าเขาทรมานจอร์จกับริงโก้มากในการบันทึกเสียงเพลงนี้ เราเสียเงินไปกับมันมากกว่าเสียให้ทั้งอัลบั้ม,ผมว่านะ" พอลต้องการให้เบสในเพลง "Maxwell's Silver Hammer" ให้เสียงเหมือน tuba เพลงจะได้มีเสียงออกแนวโบราณๆ เขาทำเสียงนั้นได้ด้วยการเล่นเบสแบบเนียนโน๊ตต่อเนื่องกันแทนที่จะเล่นเป็นโน้ตๆ วันต่อมาเป็นการอัดเสียงกีต้าร์และเสียงร้องเพิ่มลงไป ในวันที่ 6 สิงหาคม พอลเล่น Moog เสริมเข้าไปอีก มันเป็นครั้งแรกที่ Beatles ใช้เครื่องดนตรีนี้
มีการมิกซ์หลายครั้งจากนั้น เริ่มจากวันที่ 14 สิงหาคม ในวันที่ 25 สิงหาคม มีการใส่เอ็ฟเฟ็คมากมายเติมลงไป แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ พวกเขาเลือกมิกซ์ในวันที่ 14 สิงหาคมเป็น final mix

Oh! Darling


พอลแต่ง Oh! Darling ในสไตล์บัลลาดร็อคแอนด์โรลจากยุค 50's มันแสดงให้เห็นอีกครั้งถึงความเฉียบขาดของเขาในฐานะนักร้อง เริ่มแรกมันมีชื่อเต็มๆว่า "Oh! Darling (I'll Never Do You No Harm)" พวกเขาร้องเล่นมันครั้งแรกใน Get Back session วันที่ 27 มกราคม 1969 ที่ Apple studio ที่นาย "Magic Alex" จอมเพี้ยนเป็นผู้ออกแบบ ในตอนนั้น Oh! Darling มีพอลร้องและเล่นเบส,จอร์จเล่นกีต้าร์, จอห์นร้องช่วยและเล่นกีต้าร์,ริงโก้กลอง และ บิลลี่ เพรสตันเล่นเปียโนไฟฟ้า ระหว่างการบันทึกเสียงนี้ จอห์นได้รับข่าวดีสำหรับเขา คือการหย่าร้างระหว่างโยโกะและสามี Anthony Cox ที่จะมีผลในวันที่ 2 ก.พ. 1969 คุณจะได้ยินได้ในตอนท้ายของเพลงนี้ในเวอร์ชั่นของอัลบั้ม Anthology 3 จอห์นพูดว่า "ไอได้ยินว่าเรื่องหย่าของโยโกะเรียบร้อยแล้ว เป็นอิสระแล้วเรา! " เขาแสดงความปลาบปลื้มด้วยการร้องมันลงไปในเพลงด้วยก่อนจบ
The Beatles ไม่ได้กลับมาที่ Abbey Road Studios อีกจนกระทั่งวันที่ 20 เมษายนเพื่อที่จะได้อัดเสียงเพลงนี้แบบสมบูรณ์แบบ พวกเขาอัดกัน 26 เทค เป็นที่เชื่อกันว่าพอลเป็นคนเล่นเบสและจอห์นเล่นเปียโนแต่จากการฟังและการวิเคราะห์เสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมันน่าจะเป็นตรงข้ามมากกว่า ส่วนจอร์จนั้นไม่ต้องสงสัยเขาเล่นริธึ่มกีต้าร์ผ่านลำโพงเลสลีย์และริงโก้เล่นกลอง พวกเขาพยายามทำมันออกมาให้ได้ฟีลของการบันทึกสดๆ ระหว่างเซสชั่นแรกนี้ บิลลี่ เพรสตันเล่นแฮมมอนด์ออร์แกนแทนที่จะเป็นเปียโนไฟฟ้า แต่สุดท้ายเสียงนี้ก็ถูกลบออกในวันที่ 26 เมษายน
บ้านของพอลอยู่ห่างจาก Abbey Road ไปไม่กี่ป้าย เขาจึงไม่มีปํญหาในการมาถึงห้องอัดก่อนคนอื่นๆประมาณ 1 ชั่วโมง พอลจะซ้อม,อุ่นเครื่องและบันทึกเสียงร้องของเขาก่อน เขาอัดเสียงเพลงนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่สนใจคำทัดทานของจอร์จ มาร์ตินที่บอกว่า เขาน่าจะได้เวอร์ชั่นที่ดีที่สุดแล้ว พอลบอกไว้ว่า "ผมมาที่สตูดิโอก่อนคนอื่นทุกๆวันเป็นเวลาอาทิตย์นึงเพื่อที่จะร้องมันคนเดียวเพราะว่าตอนแรกเสียงร้องของผมมันกระจ่างใสเกินไป ผมอยากจะให้เสียงผมมันออกมาเหมือนกับว่าผมได้ไปแสดงบนเวทีมาตลอดสัปดาห์น่ะ"
การถ่ายทอดเพลงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย พอลร้องนำด้วยเสียงอันโดดเด่นแต่เขายังไม่สามารถได้เสียงแหบกร้านอย่างที่เขาคาดไว้ อลัน พาร์สันส์ ผู้ที่เป็นผู้ช่วยเอ็นจิเนียร์เล่าว่า "บางทีความทรงจำที่เด่นชัดที่สุดของผมในการทำงานใน Abbey Road sessions ก็คือการได้เห็นพอลเดินเข้ามาในสตูดิโอ 3 ตอนประมาณบ่ายสองถึงสองครึ่งของทุกๆวัน มาคนเดียว,เพื่อที่จะมาร้อง Oh! Darling เขาจะเข้ามา ร้องเสร็จ แล้วก็บอกว่า 'ไม่นะ มันยังไม่ใช่ ผมจะลองใหม่พรุ่งนี้' เขาจะร้องมันแค่วันละครั้งเดียว ผมเดาว่าเขาต้องการความหยาบกร้านในเสียงที่จะทำได้ครั้งเดียวก่อนที่เสียงจะเปลี่ยนไป ผมจำได้ว่าเขาพูดว่า 'ถ้าเป็นห้าปีก่อน แป๊บเดียวผมก็ทำเสร็จแล้ว' ผมคิดว่าเขาคงหมายถึงช่วงที่พอลร้องเพลงอย่าง Long Tall Sally หรือ Kansas City" John Kurlander ก็ได้เห็นการโอเวอร์ดับด้วย "ผมคิดว่าพอลต้องการคุณภาพแบบ-- สิ่งแรกในรุ่งเช้า หรืออาจจะเป็น สิ่งสุดท้ายยามราตรี ไม่ว่ามันจะเป็นยังไง พอลจะเข้ามาเร็วทุกวัน หนึ่งชั่วโมงก่อนคนอื่นๆเพื่อจะได้มาร้องเพลงนี้ โดยเขาจะอัดทับอันเก่าๆเสมอจนกว่าเขาจะได้เทคที่เขาชอบ" พอลร้องมันครั้งสุดท้ายในวันที่ 23 ก.ค. ถึงตอนนั้นเขาก็มีจำนวนเทคมาพอที่จะตัดต่อแต่ละส่วนเข้าเป็นแทร็คเดียวที่ยอดเยี่ยมได้
วันที่ 8 สิงหาคม ก็เป็นวันที่น่าจดจำ พวก Beatles ถ่ายปกอัลบั้มกันที่ทางม้าลายหน้า Abbey Road โดยตากล้อง Iain MacMillan และบ่ายวันนั้น พอลดอดเข้าไปในสตูดิโอหมายเลขสามคนเดียวเพื่อที่จะอัดเสียงลีดกีต้าร์โซโลและแทมโบรีน แต่ในมิกซ์สุดท้ายสองเสียงนี้ก็ถูกตัดทิ้งไป พวกเขาอัดเสียงร้องสนับสนุนเพิ่มเติมลงไปในวันที่ 11 สิงหาคม โดยลบเสียงร้องสนับสนุนของจอห์นที่อัดไว้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมทิ้งไป
การร้องของพอลในเพลงนี้ต้องเรียกได้ว่าเด็ดขาดสุดๆ ตรงกันข้ามกับที่จอห์นเคยค่อนแคะไว้ภายหลัง ( "Oh! Darling เป็นเพลงของพอลที่เขาแต่งได้ดีแต่ร้องไม่ดีเท่าไหร่ ผมคิดเสมอว่าผมร้องได้ดีกว่าเขา มันเป็นสไตล์ของผมมากกว่าพอลน่ะ แต่ก็อย่างว่าล่ะนะ เขาเป็นคนแต่ง เขาก็ต้องอยากร้องเอง แต่ถ้าเขามีสามัญสำนึกสักนิด เขาก็ควรจะให้ผมร้องน่ะ (หัวเราะ)"--จอห์นเล่าไว้ในปี 1980) และทางกลองของริงโก้ก็ยอดเยี่ยม

พอลต้องการให้ได้บรรยากาศแบบสดๆในเพลงนี้เขาจึงไม่ได้ใส่หูฟังในการร้อง เพื่อที่เขาจะได้ยินเสียง feedback ตรงๆจากลำโพง เหมือนกับที่ Beatles ทำกันมาตลอดในการบันทึกเสียงยุคแรกๆก่อนปี 1966

Octopus's Garden


มันคือวันที่ 22 สิงหาคม 1968 ริงโก้ สตาร์เดินออกจากเซสชั่นการบันทึกเสียงเพื่ออัลบั้ม The White Album เขาไม่อาจทนความเครียดที่เกิดขึ้นในวงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอีกต่อไป ไหนยังจะคำวิพากษ์วิจารณ์ของพอลที่ทำให้เขาถึงกับสงสัยในความสามารถด้านตีกลองของตัวเอง ด้วยความผิดหวัง, ขมขื่น และหมดแรง มือกลองหนุ่มพาภรรยาและลูกๆไปตากอากาศแก้เซ็งที่ Sardinia ด้วยเรือยอชท์ที่ยืมมาจากเพื่อนดาราของเขา, ปีเตอร์ เซลเลอร์ส ในมื้อกลางวันหนึ่งของการพักผ่อนนี้ ริงโก้พบว่าอาหารที่เสิร์ฟไม่ใช่ fish and chips ที่คุ้นเคย แต่เป็น...ปลาหมึกยักษ์ เขาไม่เคยกินอะไรแบบนี้มาก่อน กัปตันเล่าให้ฟังถึงพฤติกรรมแปลกๆของเจ้าหมึกยักษ์นี้ มันจะชอบสะสมและจัดวางเปลือกหอยสวยๆงามๆไว้รอบๆถ้ำของมันราวกับมันเป็นสวนเล็กๆ ริงโก้ชอบใจและนำมันไปเขียนเพลงเกี่ยวกับสวนของหมึกยักษ์นี้ทันที มันคือผลงานการประพันธ์ชิ้นที่สองของเขาต่อจาก Don't Pass Me By ใน The White Album
หลังจากกลับจาก Sardinia ริงโก้นำเสนอเพลงนี้ให้ทางวงพิจารณา แต่มันก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ใน The White Album แต่อย่างใด The Beatles เริ่มนำ Octopus's Garden มาเล่นกันครั้งแรกในเดือนมกราคม 1969 ใน Get Back sessions ที่ Twickenham Film Studios ในภาพยนตร์ Let It Be เราจะได้เห็นจอร์จช่วยริงโก้แต่งท่อนบริดจ์ของเพลงนี้ด้วยเปียโน จอร์จแนะนำให้ริงโก้เริ่มเพลงนี้ด้วยคอร์ดเมเจอร์แทนที่จะเป็นไมเนอร์ จอร์จ มาร์ตินจ้องมองอยู่อย่างสนใจ ส่วนจอห์น เลนนอน ช่วยตีกลอง!
แม้เพลงนี้จะดูขำๆ ฮาๆ แต่ถ้าเรามองดูเนื้อเพลงดีๆจะพบว่ามันอาจจะบอกอะไรบางอย่างถึงความยากลำบากของวงในขณะนั้น วลีอย่าง We would be warm, below the storm และ We would be so happy you and me / no one there to tell us what to do อาจจะเป็นการบรรยายด้วยจิตใต้สำนึกถึงตัวริงโก้และจอร์จและความเครียดเค้นที่พวกเขารู้สึกได้ ก่อนที่จะถึงเวลาวงแตก
เมษายน 1969 ที่ Abbey Road ริงโก้, ผู้ไม่ได้ร้องเพลงอะไรเลยใน Get Back sessions จับไมค์ร้องเพลงที่เขาแต่งเองนี้ โดยพอลและจอร์จอยู่ในอารมณ์แจ่มใส ส่วนจอห์นเดินไปเดินมาไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน Geoff Emerick เล่าว่า พอลและจอร์จกระตือรือร้นมากกับการเล่นเพลงนี้ราวกับเป็นเพลงของพวกเขาเอง พวกเขาเริ่มเล่นเพลงนี้กันจริงๆจังๆเพื่อการบันทึกเสียงในวันที่ 26 เมษายน อัดกันไปสามสิบสองเทคเป็นอย่างน้อย โดยมีพอลเล่นเบส, จอร์จโซโลกีต้าร์อย่างเฉียบขาด มันเป็นการพิสูจน์อีกครั้งถึงความยอดเยี่ยมของฝีมือของเขา ณ ขณะนั้น ริงโก้ตีกลองและร้องไปด้วย ใน Anthology 3 เราจะได้ยินริงโก้ล้อเลียนตัวเองหลังจากจบเทค 8 ว่า "เฮ้ มันยอดไปเลยโว้ย!" พอลเติมเสียงเปียโนสไตน์เวย์เพี้ยนๆ และเนื่องจากเพลงนี้ค่อนข้างจะเรียบง่าย การบันทึกเสียงในวันแรกนี้จึงออกมาใกล้เคียงกับ final version วันนี้จอร์จ มาร์ตินไม่อยู่ในห้องอัด เครดิตโปรดิวเซอร์จึงเป็นของ คริส โธมัส และ เดอะ บีทเทิลส์ เอง
สามวันต่อมา ริงโก้ซึ่งไม่พอใจกับเสียงร้องของเขานัก อัดเสียงร้องทับลงไปอีกที จากนั้นเพลงก็ถูกเก็บขึ้นหิ้งยาวไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจึงมีการโอเวอร์ดับและมิกซ์ พอลและจอร์จให้เสียงร้องประสานแบบ falsetto พอลเติมเปียโนอีกหน่อย และจอร์จใส่กีต้าร์ลงไปอีกนิด จอห์นช่วยริธึ่มกีต้าร์ ริงโก้เป่าฟองอากาศลงไปในแก้วน้ำ เทคนิคเดิมๆที่เคยใช้ใน Yellow Submarine ที่เขาก็ร้องนำเช่นกัน และเกี่ยวกับทะเลเช่นกัน
วันต่อมาริงโก้ร้องนำครั้งสุดท้ายและเติมเสียงกลองทอมทอมลงไปก่อนท่อนสร้อยทุกท่อน การมิกซ์ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในวันที่ 18 ก.ค. 1969 น่าสนใจที่มีการมิกซ์แบบโมโนด้วย แต่ก็ยังไม่เคยมีการนำออกเผยแพร่จนทุกวันนี้

I Want You (She's So Heavy)


"I Want You ก็คือตัวผมเองร้องให้โยโกะ" จอห์นสรุปสั้นๆถึงเพลงนี้จากการให้สัมภาษณ์กับ David Sheff (Playboy Interview) อันโด่งดังในปี 1980 ง่ายๆอย่างนั้นแหละ เพลงนี้ถ้าจะนับคำจริงๆก็มีคำแค่ประมาณ 1 โหลเท่านั้น แต่ความพอเพียงของภาษานี้ถูกนำมาใช้อย่างทรงพลังและได้ประสิทธิผลในความเป็นตัวตนอย่างยิ่งของเลนนอน เขานำหัวใจออกมาแผ่หรา, ไม่มีการผ่อนปรนอะไร, อย่างที่เขาเป็นเสมอมา แต่ในปี 1970 จอห์นกล่าวไว้ได้ฮากว่านั้น
"มีคนบอกว่าในเพลงนี้ผมหมดสภาพในความเป็นอัจฉริยะด้านการเขียนเนื้อเพลงไปแล้ว มันธรรมดาและน่าเบื่อหน่ายเหลือเกิน ผมจะบอกคุณให้นะว่า She's So Heavy มันเกี่ยวกับโยโกะ และเมื่อเราพูดกันถึงเรื่องนี้ มันก็เหมือนคุณกำลังจะจมน้ำตาย คุณจะไม่พูดหรอกว่า ผมจะยินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าใครสักคนจะมีวิสัยทัศน์พอที่จะเห็นว่าฉันกำลังจะจมน้ำและยื่นมือเข้ามาช่วยผม คุณแค่กรีดร้อง และใน She's So Heavy ผมก็เป็นอย่างนั้น ผมแค่ร้องว่า I want you, I want you so bad, she's so heavy, I want you จบนะ"
จอห์นอาจจะได้แรงบันดาลใจบางอย่างของริธึ่มของเพลงนี้มาจากเพลง "Comin' Home, Baby" เพลงของ Mel Torme ในปี 1962 ใน I Want You นี้เราอาจจะแบ่งมันออกได้เป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นการร้อง และส่วนที่เป็นการบรรเลง ส่วน"ร้อง" เป็นบลูส์ไมเนอร์สเกลที่มีเสียงร้องทับไปกับการโซโลกีต้าร์ ส่วน"บรรเลง"นั้นแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นเอกเทศออกจากส่วนแรก มันเป็น harmonic progression ที่เล่นในแบบ arpeggios ด้วยกีต้าร์ที่ซ้อนทับกันหลายชั้นสำหรับส่วนที่เป็น 'coda' ของบทเพลง จอห์นพยายาม"บิ๊ว"ความเครียดเค้นขึ้นเรื่อยๆเพื่อแสดงถึงความลุ่มหลงที่เขามีให้ต่อโยโกะ
The Beatles เริ่มซ้อมเพลงนี้กันในวันที่ 29 มกราคม 1969 ก่อนคอนเสิร์ตบนหลังคาอันยิ่งใหญ่ 1 วัน ตอนนั้นเพลงนี้ยังมีชื่อแค่ 'I Want You' เท่านั้น ('She's So Heavy ถูกเติมเข้ามาภายหลังในวันที่ 11 สิงหาคม) แต่การเล่นอย่างจริงจังเกิดขึ้นครั้งแรกที่ Trident Studios ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พวกเขาเล่นกันไป 35 เทค จอห์นร้องนำได้เด็ดดวงและเล่นกีต้าร์คู่ไปกับจอร์จ ส่วนพอลก็ไม่น้อยหน้า ปล่อยท่อนเบสสุดคูลซึ่งช่วยประสานรอยต่อระหว่างบลูส์ริฟฟ์, glissandos และจังหวะละติน Billy Preston วาดฝีมือออร์แกนอย่างฟู่ฟ่า ขณะที่ริงโก้คุมจังหวะหนักแน่น วันต่อมาจอห์นพบว่าเขาไม่พอใจเทคไหนเต็มๆสักเทค จึงสั่งให้มีการควบสามเทคเข้าเป็นหนึ่งเดียว เสียงร้องของจอห์นตอนต้นเพลงจากเทค 9, ท่อน middle eight จากเทค 20 ส่วนที่เหลือมาจากเทค 32 รวมเวลาแล้วผลจากการรวมนี้ได้เพลงที่มีความยาวมากกว่า 8 นาที อีกวันต่อมา (24 ก.พ.) มีการทำ edited master และนี่คือผลลัพธ์ของ 'Trident Recording' สำหรับ I Want You
กระโดดมาในวันที่ 18 เมษายน ที่ Abbey Road จอห์นและจอร์จบันทึกเสียงกีต้าร์เพิ่มเติมลงไปอีกมากมายในท่อนอินโทรและโคดาของเพลงนี้ เสียงกีต้าร์ arpeggios เป็นการเล่นแบบ unison ของทั้งสอง ทั้งจอห์นและจอร์จพ่วงกีต้าร์ของเขาเข้ากับ Fender Twin Reverb และบิดโวลลุ่มไปที่เกือบสุดเพื่อที่จะให้ได้เสียงที่มหึมาที่สุด แต่การที่อัดเสียงกีต้าร์เข้าไปมหาศาลแบบนี้ก็ทำให้เสียงออร์แกนของบิลลี่ เพรสตันถูกกดจมหายไป อย่างไรก็ตามในวันที่ 20 เมษา อาจจะเป็นพอลที่อัดเสียงแฮมมอนด์ออร์แกนเพิ่มเข้าไปอีก และริงโก้ตีคองก้าใส่เข้าไปด้วย
จนกระทั่งวันที่ 8 สิงหาคม พวกเขากลับมาหาเพลงนี้อีกครั้ง จอห์นอัดเสียง 'white noise' จาก Moog ลงไป เขาถูกใจเสียงนี้เพราะมันมีความน่ากลัวและความหลอนที่เหมาะมากกับตอนท้ายของเพลงนี้ ริงโก้เพิ่มเสียงสแนร์ลงไปอีก, 11 สิงหา จอห์นพอลและจอร์จร่วมกันร้องคอรัส she's so heavy ลงไปในมาสเตอร์ของวันที่ 18 เมษายน ในช่วงนี้มีความสับสนในการ label ที่มาสเตอร์ที่ชวนงงเล็กน้อย แต่อย่าไปสนใจมันเลย!
ใน final version จอห์นเลือกการบันทึกเสียงที่ Abbey Road ในช่วง 4.37 นาทีแรก และการบันทึกเสียงจาก Trident ในช่วงที่เหลือของเพลง (ทำให้นึกถึงสิ่งที่เขาเคยทำไว้ใน Strawberry Fields Forever ในทำนองเดียวกัน) ช่วงท้ายเพลงที่จอห์นใส่ white noise อย่างเมามันสร้างความปวดเศียรให้พอลอย่างมาก Geoff Emerick เล่าว่าเขาเห็นพอลนั่งคอตกมองพื้น ไม่พูดอะไรสักคำ เขาไม่เข้าใจว่าจอห์นกำลังทำอะไรอยู่ เท่านั้นยังไม่พอ จอห์นยังสั่งให้"ตัด"เทปออกดื้อๆก่อนที่เพลงจะจบ 20 วินาที ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามันจะกลายเป็นการจบที่เวิร์คมากๆ จนจอห์นอยากจะให้มันเป็นเพลงจบในหน้าสองของ Abbey Road เลยด้วยซ้ำ (แต่ไม่มีใครเอาด้วย)
I Want You เป็นเพลงสุดท้ายที่ The Beatles ทั้งสี่คนร่วมบันทึกเสียงพร้อมกันในห้องอัด หลังจากวันที่ 20 สิงหาคม 1969 พวกเขาก็ไม่เคยร่วมงานด้วยกันที่เดียวกันเวลาเดียวกันอีกเลย


Here Comes The Sun


1969 เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับ The Beatles ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายและธุรกิจที่เห็นไม่ตรงกัน, ความล้มเหลวของ Get Back project และการแทรกตัวเข้ามาอยู่กลางวงตลอดเวลาของผู้หญิงนาม Yoko Ono เหล่านี้ล้วนสั่นคลอนความมั่นคงของวงดนตรีที่กำลังอ่อนล้าอยู่แล้ววงนี้ สมาชิกทุกคนดูจะพยายามหาทางออกและความเป็นส่วนตัว จอร์จ แฮริสัน ดูจะต้องการสิ่งนั้นเป็นพิเศษ เขาเบื่อหน่ายเต็มทนกับเรื่องทางธุรกิจเหล่านี้
เช้าวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ จอร์จ แฮริสัน เริ่มต้นแต่งเพลง 'Here Comes The Sun" ขณะไปเที่ยวบ้าน Eric Clapton เพื่อนรักที่ Huntwood Edge, Surrey เอริคเล่าว่า "เรานั่งเล่นกันอยู่ในสวน มีกีต้าร์คนละตัวในมือ และก็ดีดอะไรเล่นกันไปเรื่อยๆ จู่ๆจอร์จก็เริ่มร้อง de da de de, it's been a long cold lonely winter และทีละเล็กละน้อย เขาก็แต่งมันขึ้นมาสดๆ เผลอแป๊บเดียวก็ได้เวลาข้าวเที่ยงแล้ว"
ตุลาคม 1969 จอร์จบอกเล่าแก่ David Wigg "เบื้องหลังของเพลงนี้ มันก็เหมือนกับที่พอลเขียน 'You Never Give Me Your Money' นั่นเอง คุณจะเขียนถึงเรื่องที่รบกวนและมีอิทธิพลแก่คุณในขณะนั้น สำหรับเพลงนั้นของพอล ผมคิดว่ามันก็คือเรื่องเงินๆทองๆที่เราต้องวุ่นวายกับมัน ส่วน 'Here Comes The Sun' ก็มาในช่วงนั้น ชีวิตเราเต็มไปด้วยการประชุมและต้องเจอะเจอกับนักกฎหมาย นายธนาคาร มีแต่เรื่องสัญญายุ่บยั่บ และมันก็เป็นอะไรที่ห่วยแตก เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เราเอ็นจอยเอาซะเลย จนวันหนึ่ง ผมก็โดดออฟฟิศเอาดื้อๆ เหมือนเด็กโดดเรียน ผมแว่บไปที่บ้านเพื่อนคนหนึ่งแถบชานเมือง (ก็บ้านแคลปตันนั่นแหละ) และวันนั้นมันก็ช่างสดใส ทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากความกดดันที่ทับถมลงบนตัวผมมาตลอด แสงแดดเจิดจ้าสดชื่นเหลือเกิน ผมหยิบกีต้าร์ขึ้นมา ผมไม่ได้เล่นมันมาสองอาทิตย์แล้วเพราะมัวแต่ยุ่งกับเรื่องธุรกิจบ้านี่ และสิ่งแรกที่ออกมาจากกีต้าร์ก็คือเพลงนี้ มันมาดื้อๆซะอย่างงั้น ผมแต่งมันเสร็จเรียบร้อยตอนไปเที่ยวพักผ่อนที่ Sardinia ในเวลาต่อมา"
จอร์จแต่งเพลงนี้เสร็จเรียบร้อยหลังวันที่ 1 มิ.ย. ไม่นานขณะไปเที่ยว Sardinia กับ Terry Doran (ภรรยาของเขา Pattie และ Klaus Voormann ตามไปสมทบทีหลัง) 'Here Comes The Sun' คือมาสเตอร์พีซอีกชิ้นหนึ่งของจอร์จ ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำหรือดนตรี มันช่างเปล่งปลั่งสุกสว่าง ในระดับใกล้เคียงกับ 'Something' นีคือข้อพิสูจน์ว่าเขาแต่งเพลงได้ไม่แพ้จอห์นและพอลเลย
The Beatles เริ่มต้นบันทึกเสียง Here Comes The Sun กันในวันที่ 7 ก.ค. 1969 (วันเกิดครบรอบ 29 ปีของริงโก้) จอห์นยังมาไม่ได้ เพราะกำลังพักฟื้นจากการประสบอุบัติเหตุรถยนต์ในสก็อตแลนด์ สามเต่าทองเริ่มต้นด้วยการทำเบสิกริธึ่มแทร็ค พอล-เบส, ริงโก้-กลอง, จอร์จ-กีต้าร์โปร่งและร้องไกด์ พวกเขาเล่นกันได้อย่างสดใสเจิดจ้า และแม้ Here Comes The Sun เป็นเพลงที่สุดแสนจะเบิกบาน แต่จังหวะจะโคนของมันไม่ธรรมดาแม้แต่น้อย มีทั้ง 11/8,4/4 และ 7/8 ในท่อนบริดจ์ แต่ริงโก้ก็ไม่มีปัญหาอะไรในการรับมือจังหวะที่ผันแปรนี้ (ในภาพยนตร์ George Harrison : Living In A Material World ริงโก้เล่าให้ฟังในการตีเพลงนี้อย่างสนุกสนาน เห็นได้ชัดว่าเขาทำมันด้วยพรสวรรค์และเซนส์ล้วนๆ ในสารคดีนี้ท่านยังจะได้ฟังเสียงกีต้าร์ที่ไม่ได้ใช้ใน final version ของ Here Comes The Sun อีกด้วย) ในชั่วโมงสุดท้ายของเซสขั่น จอร์จปิดงานด้วยการใส่เสียงกีต้าร์ Gibson J-200
วันต่อมาจอร์จลบเสียงร้องนำเดิมและร้องใหม่ เพิ่มเติมเสียงประสานเสียง Sun,Sun,Sun ที่เขาร้องร่วมกับพอล ส่วนพอลก็ช่วยใส่เสียงกีต้าร์ผ่านลำโพงเลสลีย์เข้าไปอีก ขณะที่ริงโก้ก็เสริมเสียงสแนร์ให้หนักแน่นยิ่งขึ้น มีการถ่ายทอดเทปจากเทค 13 ไปยังเทปแปดแทร็คม้วนใหม่ กลายเป็นเทค 16 ซึ่งจอร์จใส่เสียงฮาร์โมเนียมและเสียงตบมืออันสนุกสนานและซับซ้อนลงไป เติมเสียงประสานร่วมกับพอลลงไปอีกนิด วันที่ 6 และ 11 สิงหาคม จอร์จเพิ่มเสียงกีต้าร์ลงไปอีก และวันที่ 15 สิงหาคม จอร์จ มาร์ตินนำทีมออเคสตร้าบันทึกเสียงในเซสชั่นยาวเหยียด 9 ชั่วโมง (วิโอล่า 4 ตัว, เชลโล 4 ตัว, ดับเบิลเบส 1, พิคโคโล่ 2, ฟลุต 2 , อัลโตฟลุต 2 และ คลาริเน็ต 2 ตัว) และไหนๆออเคสตร้าก็มากันแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว ในเซสชันเดียวกันนี้ มาร์ตินก็บันทึกเสียงออเคสตร้าลงไปในเพลงอื่นๆในอัลบัมอีกหลายเพลงด้วย อันมี Golden Slumbers/Carry That Weight/The End และ Something
เสียงของออเคสตร้ากลบเสียงฮาร์โมเนียมของจอร์จเสียหมด ในวันที่ 19 สิงหาคม จอร์จอัดเสียงสุดท้ายลงไปในเพลง Here Comes The Sun มันคือเสียงของ Moog synthesizer อันเป็นเครื่องดนตรีอันโดดเด่นที่สุดในเพลงนี้อีกชิ้นหนึ่ง ในวันนั้นก็มีการทำสเตอริโอมิกซ์สำหรับเพลงนี้ มีการปรับสปีดเล็กน้อย, เสียงกีต้าร์ Gibson J-200 ได้รับการทำดับเบิลแทร็คด้วย ADT (เว้นแต่ช่วงอินโทร) พอลยังไม่หนำใจ เขาทำ sound loops พิเศษมาเพื่อเพลงนี้โดยเฉพาะ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ถูกเลือกนำมาใช้ใน final version อ้อ และสุดท้าย จอห์น เลนนอน ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยในเพลงนี้สักอย่างเดียว


Because


อาจจะไม่ค่อยน่าเชื่อสักเท่าไหร่ สำหรับความจริงที่ว่าในเยาว์วัย โยโกะ โอโนะเคยเรียนเปียโนคลาสสิก วันหนึ่งในปี 1969 เธอบรรเลงเพลง 'Moonlight' Piano Sonata No.14 in C Sharp minor, Opus 27. II ของ Beethoven ให้จอห์นเลนนอนที่นอนเล่นอยู่ฟัง จอห์นรู้สึกประทับใจและเกิดพุทธิปัญญาอะไรบางอย่าง เขาบอกให้โยโกะลองเล่นมันอีกครั้ง แต่ให้เธอเล่นด้วยทางเดินคอร์ดแบบย้อนศรจากที่เบโธเฟนแต่งไว้ จอห์นบอกภายหลังว่า นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนเพลง Because แต่เมื่อเอามาฟังกันจริงๆ ก็พบว่ามันก็มีส่วนคล้ายเพลงของเบโธเฟนแบบย้อนหลังนั้นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ชัดเจนจะแจ้งอะไร ถ้าเทียบกับช่วงสั้นๆในเพลง Amsterdam ในอัลบัม Wedding Album ของจอห์นและโยโกะ ในช่วงนาทีที่ 22.10 ที่บันทึกเสียงที่โรงแรม Amsterdam Hilton ระหว่างวันที่ 25 และ 31 มีนาคม 1969 (ช่วงสั้นๆนั้นมีชื่อเล่นว่า 'Stay In Bed') จะพบว่าเสียงกีต้าร์ของจอห์นมีความละม้าย Because มากกว่า เป็นไปได้ว่าจอห์นจะผสมผสานอารมณ์เพลงของเบโธเฟนลงไปในประสบการณ์ที่เนเธอร์แลนด์นั้นจนกลายมาเป็น Because
ถ้าไปถามพอล เขาคิดว่าเนื้อเพลงๆนี้ได้อิทธิพลมาจากโยโกะแน่ๆ คำประเภท wind, sky หรือ earth นั้นเป็นธีมถนัดของเธอ ส่งตรงมาจากหนังสือ Grapefruit (1964) จอห์นเองก็บอกว่าถ้อยคำเหล่านี้มันชัดเจนและมีความหมายในตัวเอง ไม่มีการเล่นคำ, ภาพในจินตนาการ หรือการอ้างอิงที่คลุมเครือ ส่วนจอร์จบอกว่าเขาชอบเพลงนี้ที่สุดในอัลบัมเพราะเขาชอบการประสานเสียงร้องสามเสียงในเพลงนี้ ซึ่งพวกเขาไม่เคยทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว หลังจากเพลง Yes It Is ในปี 1965 ส่วนพอลก็คิดว่านี่เป็นเพลงที่ดีที่สุดเพลงหนึ่งใน Abbey Road เช่นกัน
จอร์จ มาร์ตินได้ฟังจอห์นเล่น Because ครั้งแรกในวันที่ 1 สิงหาคม 1969 และเขาก็คิดว่าวงน่าจะได้ใช้ประโยชน์ในการเรียบเรียงเสียงประสานของเขาอีกครั้งแน่ แต่ขั้นแรกต้องทำแบ็คกิ้งแทร็คกันก่อน จอห์นเล่นกีต้าร์, มาร์ตินเล่นฮาร์ปซีคอร์ดไฟฟ้า และริงโก้เหยียบไฮแฮทให้จังหวะ (เสียงฉาบนี้ไม่ได้นำไปใช้จริง แค่ให้จังหวะในหูฟัง) พอลรับบทโปรดิวเซอร์ในช่วงนี้ และด้วยความเป็นพอลที่ไม่ค่อยพอใจอะไรง่ายๆ เขาสั่งให้ทั้งสามคนเล่นกันเทคแล้วเทคเล่าจนแทบหมดแรงเมื่อผ่านไป 23 เทค จนจอห์นทนไม่ไหวเดินขึ้นไปขอลองฟังเทปดูและพบว่าเทค 16 ที่อัดไปแล้วเมื่อชั่วโมงกว่าก่อนหน้านี้ มันยอดเยี่ยมอยู่แล้ว จอห์นไม่ได้พูดอะไร นอกจากส่งสายตาโหดเหี้ยมให้พอลหนึ่งดอก จากนั้นพอลก็เติมเสียงเบสลงไป
จอห์น พอล จอร์จ ต้องซ้อมการร้องประสานเสียงที่มาร์ตินเขียนโน้ตให้อย่างจริงจังเป็นเวลาสามชั่วโมงกว่าจะอัดเสียงร้องเป็นเทคแรกได้ สามวันต่อมาพวกเขาตัดสินใจทำ double และ triple track ของเสียงร้องของเขาทั้งสามในเทคแรกนี้และทั้งสามยังร้องเพิ่มใหม่ลงไปอีกสองเทคด้วย
ภาพใน Abbey Road วันนั้นคือ แสงไฟในห้องอัดถูกหรี่ลงเพื่อสร้างบรรยากาศ เต่าทองทั้งสามนั่งเรียงกันในแนวครึ่งวงกลม และแม้จะอ่อนล้า แต่ก็ไม่มีใครแสดงอาการจะถดถอย มันกินเวลาถึงกว่าห้าชั่วโมงกว่าจะได้เทคที่น่าพอใจ แต่มันก็คุ้มค่า เพราะเสียงที่ได้ยินใน final version นั้น ประหนึ่งว่าพวกเขาใช้นักร้องประสานเสียงมากกว่า 9 คน ขับร้องเมโลดี้อันเยือกเย็น สง่างาม และกลมกล่อม มันคือการประสานเสียงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบทเพลงของ The Beatles
5 สิงหาคม จอร์จเติมเสียง Moog ลงไปในเพลง เขาเป็นนักดนตรีคนแรกๆของอังกฤษที่นำเครื่องดนตรีนี้มาใช้ในการบันทึกเสียง โดยจอร์จซื้อมันมาจากแคลิฟอร์เนียในวันที่ 15 พ.ย. 1968 เขาเคยนำมันมาใช้ก่อนหน้านี้ในอัลบั้ม Electronic Sounds ของเขาที่ออกในเดือนพ.ค. 1969 และนี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ Moog ในการบันทึกเสียงของ The Beatles (แต่ในแผ่นเสียง เสียงมู้กเปิดตัวไปก่อนในแทร็ค Maxwell's Silver Hammer)
Geoff Emerick เห็นความงดงามในความพิสุทธิ์ในเพลงนี้จึงเกิดไอเดียว่าเขาจะไม่ใช้ signal processor, compressor หรือ limiters ใดๆในเพลงนี้ และเขาก็ทำได้จริง มิกซ์เสียงโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรุงอะไรเสริมเลยในวันที่ 12 สิงหาคม 1969 และทำ final stereo mix ในวันนั้น
ถ้าคุณอยากฟังเสียงร้องของจอห์น พอล และ จอร์จ แบบไม่มีเครื่องดนตรีใดๆเลย จะหาฟังได้ในอัลบัม Anthology 3 และ Love (ชุดหลังจะมีเสียงนกจิ๊บๆเล็กน้อย)
หลายปีต่อมา พอลตามซื้อฮาร์ปซีคอร์ดตัวนั้นที่มาร์ตินเล่นในเพลง Because มาได้สำเร็จ (จาก EMI) เขานำมาเล่นอีกครั้งในเพลง Free As A Bird ในปี 1995

You Never Give Me Your Money


"Abbey Road Medley" อันลือลั่นเริ่มต้นที่เพลงนี้ และที่ 'inception' เข้าไปอีกก็คือตัวเพลง You Never Give Me Your Money ก็ประกอบไปด้วย fragments ย่อยๆอีกห้าหรือหกส่วน อาจกล่าวได้ว่ามันก็เป็นเมดเลย์ในตัวของมันเองด้วย ไอเดียในการทำเมดเลย์นี้อาจจะเริ่มมาตั้งแต่การบันทึกเสียงเซสชั่นแรกที่ Olympic Sound Studios ในตอนต้นเดือนพฤษภาคม จอร์จ มาร์ตินแนะนำให้พอลลองคิดอะไรแบบ"ซิมโฟนิก"ดู (แทนที่จะแต่งเป็นเพลงๆเหมือนที่เคยทำ) และจากนั้นพอลกับจอห์นก็เริ่มเอาเพลงที่แต่งไม่เสร็จค้างไว้ของพวกเขามาเชื่อมโยงกัน พอลกล่าวไว้ว่า "ผมคิดว่ามันเป็นไอเดียของผมในการที่จะเอาเพลงเล็กๆน้อยๆเหล่านั้นมาต่อกัน แต่ผมก็ไม่อยากเคลมว่ามันเป็นความคิดของผมคนเดียว ผมแฮปปี้นะ ถ้าจะบอกว่ามันเป็นไอเดียของทุกๆคน" ริงโก้ระลึกได้ว่าจอห์นกับพอลนั่งเอาเพลงมาเรียบเรียงกันเป็นเมดเลย์ "พวกเขาทำงานหนักในการต่อเพลง แต่พวกเขาไม่ได้นั่งเขียนเพลงด้วยกันเหมือนเดิมอีกแล้ว" ส่วนจอห์นทิ้งวาทะไว้ว่า "ผมมีเพลงที่แต่งค้างไว้ตั้งแต่สมัย Sgt. Pepper.... นี่เป็นโอกาสอันดีงามที่จะขจัดเศษเพลงเหล่านั้น"
ในการทำเมดเลย์นี้ผู้ที่เป็นกัปตันทีมคือพอลและมาร์ติน จอร์จ และ ริงโก้คอยช่วยเหลือบ้างในการแต่งเติมเสียงร้องและดนตรี ส่วนจอห์นบรรยายบรรยากาศให้เราเห็นภาพว่า "อ้า นั่นเรามีที่ว่างเหลืออยู่ 12 บาร์ เติมให้เต็มหน่อยซิ และเราก็เติมกันแบบหน้างานตรงนั้นเลย" อย่างไรก็ตาม มาร์ตินจำได้ดีว่าสุดท้ายแล้วจอห์นไม่ชอบเมดเลย์นี้ เขาคิดว่ามันไม่ร็อคพอ การบันทึกเสียงเมดเลย์เต็มไปด้วยความยากลำบาก จอร์จกล่าวหลังจากเสร็จงานว่า "ในที่สุดเราก็เล่นดนตรีเหมือนกับเป็นนักดนตรีจริงๆอีกครั้ง"
พอลเริ่มเขียน You Never Give Me Your Money ในนิวยอร์ค, ตุลาคม 1968 เนื้อหาท่อนแรกของมันนั้นพอลบอกว่ามันเป็นการวิพากษ์ Allen Klein โดยตรง เมื่อ Allen มาทำหน้าที่ผู้จัดการวง พวกเขาแทบไม่ได้เห็นตัวเงินจริงๆเลย มีแต่ตัวเลขในกระดาษ (funny paper) (ตรงนี้ถ้าไล่เวลาดูดีๆอาจจะน่าสงสัยว่ามันจะเกี่ยวกับ Klein จริงๆหรือ) ส่วนเนื้อหาในท่อนต่อมา คืออารมณ์ถวิลหาอดีตของคนหนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบและมีอิสระที่จะใช้เงินอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการท่องเที่ยวไปโดยไร้การวางแผน อย่างที่พอลชอบทำกับลินดา (ธีมนี้อยู่ในเพลง Two of Us ด้วย)
ไคลแมกซ์ของเพลงอยู่ในช่วงท้ายเพลงที่ประหนึ่งบทสวดซ้ำๆ One two three four five six seven, all good children go to heaven แบ็คอัพโดยเสียงกีต้าร์สวยๆจากจอห์นที่ภายหลังจะถูกนำมาใช้อีกครั้งในการเชื่อมเพลง Carry That Weight กับ The End
พวกเขาเริ่มงานในเพลง You Never Give Me Your Money ในวันที่ 6 พ.ค. 1969 ที่ Olympic Sound Studios ในลอนดอน เบสิกแทร็คประกอบไปด้วย พอลเล่นเปียโนและร้องไกด์ จอห์นเล่นกีต้าร์เสียงแตกพร่า จอร์จเล่นเบสเฟนเดอร์หกสาย และกีต้าร์ตัวที่สองที่ส่งผ่านลำโพงเลสลีย์ ริงโก้ตีกลองตามปกติ วันนั้นพวกเขาเล่นกันไป 36 เทค โดยเทคที่ 30 คือเทคที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้เพลงจบลงแบบห้วนๆ ยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะต่อกับเพลง Sun King อย่างไรดี
1 กรกฎาคม The Beatles กลับมาหาเพลงนี้อีกครั้ง คราวนี้เป็นที่ Abbey Road ความจริงวันนี้มีพอลคนเดียว ที่มาอัดเสียงร้องนำ, 10 วันต่อมาพอลดอดมาบันทึกเสียงเบสลงไปและในวันที่ 15 ก.ค. สี่เต่าทองมากันครบทีม พวกเขาเพิ่มเสียงร้อง, tambourine และ chimes เข้าไปในบทเพลง The Beatles ยังพยายามร้องแบ็คอัพในท่อน 'out of college' ในเพลงนี้ แต่สุดท้ายก็เลิกราไป
30 ก.ค. The Beatles รวมตัวมานั่งฟังซีเควนซ์ในเมดเลย์ (ตอนนั้นมีชื่อเล่นว่า The Long One / Huge Melody) กันในห้องคอนโทรล เพลงส่วนใหญ่เชื่อมต่อกันได้อย่างไร้ที่ติ เว้นแต่ปัญหาสองจุด พอลตัดสินใจที่จะประหาร Her Majesty ทิ้งไปอย่างถาวร และเขาไม่แฮปปี้กับการต่อเพลง You Never Give Me Your Money เข้าสู่เพลง Sun King ซึ่งตอนนั้นใช้การเชื่อมด้วยเสียงโน้ตตัวเดียวจากออร์แกนลากยาว วันต่อมามีการเพิ่มเสียงเบสและฮองกี้ทองค์เปียโนในช่วง 'out of college' (1:10 ถึง 1:31) พอลเป็นคนเล่นเปียโนนี้ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นแกรนด์เปียโนสไตน์เวย์แต่ใช้ลูกเล่นในการปรับสปีดให้ฟังเหมือน honky-tonk piano
5 สิงหาคม พอลเดินเข้า Abbey Road หิ้วถุงพลาสติกที่เต็มไปด้วยเทปที่เขา"สร้าง" มาจากบ้าน เขาควักม้วนที่มีเสียงคล้ายๆกับ "ระฆัง, ฟองอากาศ และจิ้งหรีดหริ่งระงม" ออกมา (พอลเคยใช้มุกนี้มาครั้งหนึ่งแล้วในปี 1966 ตอนเตรียมซาวด์พิลึกๆให้เพลง Tomorrow Never Knows) ในที่สุดพอลก็หาวิธีเชื่อมต่อ You Never Give Me Your Money เข้าสู่ Sun King ได้อย่างงดงามประทับใจ เป็นการ cross-fade ที่ทำได้เสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 21 สิงหาคม 1969

Sun King


จอห์นเล่าถึงที่มาของเพลงนี้ไว้อย่างเรียบง่ายว่า เขาแค่หลับแล้วก็ฝันถึงเพลงนี้ แล้วก็ตื่นมาแต่งออกมาเป็นเพลง (คล้ายๆพอลกับ Yesterday) แต่ก็ยังมีคนขี้สงสัยว่าจอห์นจะเอามาจากหนังสือชีวประวัติของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เขียนโดย Nancy Mitford ออกจำหน่ายในปี 1966 ที่มีชื่อหนังสือว่า "Sun King" หรือเปล่า บางคนช่วยสรุปให้เลยว่าจอห์นอาจจะอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วหลับฝันถึงซันคิง
ส่วนท่วงทำนองมันมีความละม้ายคล้ายเพลงบรรเลงของ Fleetwood Mac "Albatross" ที่ออกมาเมื่อเดือนมกราคม 1969 จอร์จเล่าไว้ในปี 1987 ว่า "ตอนที่เพลง Albatross ออกมา มันเป็นเพลงที่เต็มไปด้วยเสียงกีต้าร์รีเวิร์บ พวกเราฟังแล้วก็บอกกันว่า ลองเล่นเป็น Fleetwood Mac ทำเพลง Albatross กันเถอะ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ มันออกมาไม่เหมือน Fleetwood Mac หรอก แต่นั่นคือจุดเริ่มต้น"
จอห์นเล่าไว้ในปี 1969 ถึงภาษาแปลกๆในเพลงนี้ "ตอนพวกเราจะร้องเพลงนี้ ด้วยความอยากให้มันมีอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน เราจึงเริ่มร้องอะไรขำๆ แบบ 'Cuando para mucho...' พอลรู้ภาษาสเปนอยู่บ้าง ดังนั้นเราจึงเริ่มเอาภาษาสเปนมาทำเพี้ยนๆให้เหมือนมันมีความหมาย และแน่นอนเราต้องไม่ลืมใส่ 'chicka ferdi' อันเป็นสแลงลิเวอร์พูลที่ไม่ได้มีความหมายอะไรเล้ย เหมือนกับคุณพูดว่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า เราเกือบใส่คำว่า paranoia ลงไปด้วย แต่ก็ลืมไป เราเคยเรียกตัวเองกันว่าพวกเราเป็น Los Para Noias"
สรุปได้ว่าในเนื้อหาพิลึกๆที่มีถึงสามภาษานั้นมันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย จอห์นพูดถึงมันอีกครั้งในปี 1980 ว่า "มันก็คือขยะอีกชิ้นหนึ่งที่ผมสร้างขึ้น"
เดิมทีเพลงนี้ใช้ชื่อว่า "Here Comes The Sun King" แต่ย่อลงเหลือแค่ Sun King ในวันที่ 29 กรกฎาคม 1969 เพื่อจะได้ไม่สับสนกับเพลง Here Comes The Sun ของ George ในการบันทึกเสียง The Beatles เล่น Sun King สดๆต่อกับ Mean Mr. Mustard โดยเริ่มในวันที่ 24 กรกฎาคม จอห์น-ริธึ่มกีต้าร์และร้องไกด์ , จอร์จ - กีต้าร์ผ่านลำโพงเลสลีย์, พอล-เบส, ริงโก้-กลอง ทั้งสองเพลงเป็นเพลงของจอห์น ที่มีทั้งความเซอร์รีลและอารมณ์ขันแบบเลนนอน พวกเขาอัดเสียงร้อง,เปียโนและออร์แกนเพิ่มในวันต่อมา
Geoff Emerick เล่าว่าบรรยากาศในการบันทึกเสียงเพลงนี้เป็นไปด้วยมิตรภาพ และมีอยู่บางช่วงที่พอลกับจอห์นดอดเข้าไปหลังฉากเพื่อพี้กัญชา ก่อนจะออกมาร้องช่วงภาษาสเปนกำมะลอนั่นกันอย่างสนุกสนาน หลายครั้งที่กลั้นหัวเราะกันไม่อยู่
หลังจากโชว์การร้อง three part harmony ระดับพระเจ้าไปแล้วใน Because จอห์น พอล จอร์จ ทำมันอีกครั้งใน Sun King แม้จะไม่ซับซ้อนอลังการเท่า
29 ก.ค. มีการเพิ่มเสียงร้อง,ออร์แกน,เพอร์คัสชั่นและเปียโน ก่อนที่พอลจะเอาเมดเลย์มาเปิดฟังในวันต่อมาแล้วไม่พอใจในรอยต่อของ You Never Give Me Your Money และ Sun King ดังที่เล่าไปแล้วในตอนที่แล้ว
เสียงกลองสุดนุ่มในเพลงนี้เป็นไอเดียของริงโก้ที่จะวางผ้าเช็ดตัวผืนหนาไว้บนทอม-ทอมและใช้ไม้ตีกลองทิมปานี่ตี เพื่อที่จะได้เสียงกลองแบบ "คนป่า" ที่จอห์นต้องการ

Mean Mr. Mustard


ฤดูใบไม้ผลิ 1968 The Beatles เพิ่งกลับมาจาก Rishikesh พวกเขามารวมตัวกันที่บ้านของจอร์จ แฮริสันที่ Kinfauns เพื่อจะบันทึกเสียง demos ที่จะนำมาใช้ใน The White Album (ปัจจุบัน demos นี้ทำออกมาขายแล้วในแบบเต็มในเซ็ตฉลองครบรอบ 50 ปี White Album เมื่อปี 2018 ในแผ่น 'Esher Demos') สองในสามสิบเพลงนี้คือ เพลงสองศรีพี่น้อง "Mean Mr. Mustard" และ "Polythene Pam" จอห์นเล่าให้ David Sheff ฟังในปี 1980 ถึงที่มาของเพลงนี้ "ผมไปเจอเรื่องของเจ้าวายร้ายคนนี้ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง หมอนี่มีนิสัยชอบซ่อนเงินห้าปอนด์ไว้ในตัวของเขา, ไม่ใช่ในจมูกอย่างในเพลง, แต่เป็นที่อื่น ดังนั้น อย่าไปคิดว่าเพลงนี้เกี่ยวกับโคเคน" แต่ด้วยความเป็นเลนนอน ยิ่งเขาพูดมาแบบนี้แฟนเพลงบางส่วนอาจบอกว่า พอพูดมาตรูเลยคิดเลย
ดั้งเดิมแล้วน้อง(หรือพี่?)สาวของนายมัสตาร์ดคือ Shirley (อย่างที่เราได้ยินจอห์นร้องใน Esher Demos และ Anthology 3) แต่ไหนๆจะเมดเลย์ต่อกันแล้ว จอห์นเลยเปลี่ยนเป็น Pam เสีย จะได้มีความ connect กับเพลงต่อไป Polythene Pam
จอห์นไม่ปลื้มเพลงนี้ และบอกว่ามันเป็น "เพลงห่วยๆเพลงนึงที่ผมเขียนที่อินเดีย" ส่วนพอลกลับค่อนข้างชอบ "เพลงสนุกๆ ที่เป็นเลนนอนแท้ๆ แต่ผมก็ไม่รู้หรอกนะว่าที่เขาเขียนน่ะหมายถึงอะไร" ช่วงนั้นจอห์นกับพอลคงไม่ค่อยได้คุยกันเท่าไหร่
ในการบันทึกเสียง Mr. Mustard อัดพร้อมๆไปกับ Sun King ต่อกันเป็นเพลงเดียว (ไม่ได้มาตัดต่อกันภายหลัง) ตอนแรกเพลงนี้ยาวมากกว่า 3 นาที และจบด้วย final chord ที่เด็ดขาด พอจะมาทำเป็นเมดเลย์ จอห์นตัดต่อลงเหลือแค่ 1:10 นาที แต่ก็ยังคงท่อนจบเอาไว้ ต่อมาในวันที่ 30 ก.ค. พอลไม่ชอบการเชื่อมต่อระหว่าง Mean Mr. Mustard และ Her Majesty เขาจึงสั่งให้ John Kurlander ตัดเพลง Her Majesty ทิ้งออกไปเลย แต่ Kurlander ตัดพลาดไปหน่อย เลยเฉือนคอร์ดสุดท้ายของ Mustard ติดไปด้วย แต่กลับกลายเป็นว่ามันทำให้ Mustard เชื่อมต่อกับ Pam ได้อย่างเวิร์ค
เสียงร้องนำของจอห์นในเพลงนี้ได้รับการทำดับเบิลแทร็คด้วย ADT ส่วนเสียงเบสมันๆของพอลนั้นเป็นเสียงจาก fuzz pedal bass ตัวเดียวกับที่เขาเล่นใน Think For Yourself จาก Rubber Soul

Polythene Pam


Polythene เป็นคำแบบอังกฤษที่ใช้เรียก 'polyethylene' มันคือพลาสติกโพลีเมอร์ที่ใช้ทำถ้วยชามและถุงพลาสติกต่างๆที่เราใช้กันทุกวันนั่นเอง เพลง Polythene Pam นี้เป็นผลงานการแต่งของจอห์น ที่มาของเพลงก็พิลึกพิลั่นพอสมควร และมีสตรีสองคนที่เป็นต้นแบบของ"แพม"
คนแรกคือ Patricia Hodgett แฟนเดนตายของ Beatles ยุค Cavern Club แพ็ทริเซียมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นคือเธอชอบกิน polythene (!) จนเพื่อนๆเรียกเธอว่า Polythene Pat ซึ่งฟังดูไม่ห่างจาก Polythene Pam นัก
"แพม" อีกคนคือ Stephanie แฟนสาวของกวี Royston Ellis (สมญา "Allen Ginsberg แห่งอังกฤษ") คืนหนึ่งใน Channel Islands, Lennon, Royston และ Stephanie อยู่บนเตียงเดียวกัน และทุกคนสวมใส่เครื่องแต่งกายที่เป็น... polythene bags จากปากคำของ Ellis ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในคืนนั้น และเขาทั้งสามคิดว่ามันไม่เห็นจะขำตรงไหนในการที่จะมีเซ็กซ์แบบเพี้ยนๆอย่างนั้น แต่สำหรับจอห์น เลนนอน นี่เป็นวัตถุดิบชั้นดี: เซ็กซ์วิตถารในถุงพลาสติก เท่านั้นยังไม่พอจอห์นยังเติมรองเท้าบู้ตและกระโปรงสก็อตต์ (kilts) ลงไปในเพลงอีก ซึ่งจริงๆวันนั้นไม่มีใครใส่หรอก พอลยืนยันว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงๆ แม้เขาจะไม่ได้ไปซ่อนอยู่ใต้เตียงในวันนั้นก็ตาม
จอห์นร้องเพลงนี้ด้วยสำเนียงลิเวอร์พูลเต็มที่ เพราะเขาอยากให้เพลงนี้มันเป็นเรื่องของ"สก๊อยสาวในตำนานลิเวอร์พูลที่แต่งองค์ด้วยบู้ตสูงและกระโปรงสก็อตต์"
The Beatles เล่น Polythene Pam และ She Came In Through The Bathroom Window ต่อกันสดๆเหมือนกับที่จับคู่ Sun King กับ Mean Mr. Mustard ดังที่เล่าไปแล้ว พวกเขาเริ่มบันทึกเสียงเพลงคู่นี้กันในวันที่ 25 กรกฎาคม วันนั้นอัดไป 39 เทค โดยมีจอห์นเล่นริธึ่มกีต้าร์และร้องไกด์, พอลเล่นเบสและร้องไกด์ในอีกเพลง, จอร์จโซโล่กีต้าร์ และริงโก้ตีกลอง จอห์นไม่พอใจกับการตีกลองของริงโก้ในเพลงนี้มากๆ และบอกริงโก้อย่างไม่ไว้หน้าเลยว่า ที่เขาตีไปน่ะยังกะเดฟ คลาร์ค (แห่ง Dave Clark Five) แต่ยังไงริงโก้ก็ตีไม่ถูกใจจอห์นเสียที จนจอห์นหมดความอดทนและบอกว่า เอาเถอะ ก็ใส่มันลงไปอย่างนั้นก็ได้ คุณคงจินตนาการออกว่านั่นทำให้ริงโก้ของเราจิตตกแค่ไหน เขาหลบไปซ้อมกับพอลอยู่พักใหญ่และเมื่อคิดว่าเขาน่าจะพร้อมแล้ว มือกลองผู้น่ารักได้กลับมาหาจอห์นอีกครั้งด้วยความหวังสูงส่ง แต่จอห์นบอกว่า "ไอไม่เล่นเพลงเวรนี่อีกแล้ว เบื่อ ริง,ถ้านายอยากจะเล่นกลองใหม่ล่ะก็ ไปโอเวอร์ดับกันเอาเองแล้วกัน"
ด้วยความช่วยเหลือของ Geoff Emerick ริงโก้ก็ไปตีกลองใหม่ลงไปจริงๆ โดยใช้เสียงกลองเดิม (ที่จอห์นไม่ชอบ) นั้นเป็นไกด์ ในวันที่ 28 ก.ค. มีการเติมเสียงกีต้าร์, เครื่องเคาะจังหวะ, เปียโนไฟฟ้าและอคูสติกลงไปในเพลง รวมทั้งเสียงร้องใหม่ด้วย สองวันต่อมาก็ยังมีการเติมเสียงร้อง,เพอร์คัสชั่นและกีต้าร์อีกหน่อย ก่อนที่จะนั่งลองฟังกันและพบว่าทั้งสองเพลงผ่านฉลุยโดยเฉพาะช่วงต่อเพลง ทั้งสองเพลงได้รับการทำ final mix ในวันที่ 14 สิงหาคม 1969

ขอบคุณ คุณ Winyu Art Charoensantiphap ที่ช่วยไขความลึกลับในหลายประเด็นของเพลงนี้ครับ


She Came In Through The Bathroom Window


มันเป็นเพลงเดียวใน The Abbey Road Medley ที่มีความสมบูรณ์แบบในตัวเองในแบบเพลงป๊อบมาตรฐาน กล่าวคือมันมีทั้งอินโทร, เวิร์ส และคอรัส (อาจจะเรียกว่าท่อนบริดจ์) ที่มาของเพลงนี้มีอยู่สองทฤษฎี ประการแรกก็คือการบุกเข้าไปในบ้านของพอลของเหล่า 'Apple Scruffs' (แฟนเดนตายของ The Beatles ในยุคหลังๆ ที่วันๆไม่ทำมาหากินอะไรนอกจากนั่งเฝ้านอนเฝ้าหน้าบ้านของเต่าทองและที่สตูดิโอ) พอลมักจะเป็นเป้าหมายสำคัญของแฟนๆเหล่านี้เสมอ อาจเป็นเพราะบ้านเขาอยู่ไม่ไกลจาก Abbey Road, หรืออาจจะเพราะเขายังหล่อและโสด และวันนั้น Diane Ashley หนึ่งใน Apple Scruffs ก็ใช้บันไดที่วางอยู่ในสวนของพอลนั่นแหละวางพาดและปีนเข้าบ้านพอลผ่านทางประตูห้องน้ำ เธอเข้าไปกวาดทรัพย์สินและรูปภาพของพอลไปพอสมควร Margo Bird แอปเปิ้ลสครัฟฟ์อีกคน ยืนยันว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ตัวมาร์โกนั้นได้รับความไว้วางใจจากพอลถึงขนาดมีหน้าที่ไปจูงมาร์ธาหมาตัวโปรดของพอลไปเดินเล่นได้ มาร์โกรับอาสาไปทวงคืนรูปบางรูปที่มีความหมายต่อพอลคืนจากไดแอน และเธอก็ทำได้ (น่าจะเป็นรูปที่พอลถ่ายกับพ่อของเขา)
แต่ในอีกทฤษฎีหนึ่ง Mike Pinder อดีตมือคีย์บอร์ด The Moody Blues เล่าว่า เขาเป็นคนเล่าให้พอลฟังถึงเรื่องที่มีกรุ๊ปปี้บุกเข้าไปในบ้านของ Ray Thomas มือฟลุตของมู้ดดี้บลูส์ผ่านทางประตูห้องน้ำ และเมื่อพอลได้ยินเรื่องนี้ เขาก็คว้ากีต้าร์ขึ้นมาแต่งเพลง She Came In Through The Bathroom Window สดๆเลย
ท่อน 'And so I quit the police department to make myself a steady job' ในตอนท้ายเพลง พอลคิดได้ในวันที่ 31 ตุลาคม 1968 ขณะนั่งแท็กซี่ไปที่สนามบินนิวยอร์ค พอลเหลือบไปเห็นเหรียญตราของคนขับแท็กซี่ที่มีชื่อของเขา- Eugene Quits, New York Police Department เขาก็เลยเอามาใส่ในเนื้อเพลงซะอย่างนั้น ช่วงนั้นพอลไปอยู่กับลินดาสองอาทิตย์ที่นิวยอร์ค
ปี 1969 จอร์จบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ดี และเนื้อหาที่ดี "แต่มันก็ยากที่จะบรรยายว่ามันเกี่ยวอะไรกันแน่" ส่วนจอห์นคิดไปอีกทางว่า มันอาจจะเกี่ยวกับลินดา "บางทีก็อาจจะเป็นเธอนั่นแหละ ที่เข้ามาทางหน้าต่าง"
The Beatles เริ่มเล่นเพลงนี้ ซึ่งตอนแรกมีชื่อแค่เพียง 'Bathroom Window' ที่ Apple Studios ในวันที่ 22 มกราคม 1969 โดยมี Billy Preston ร่วมเล่นเปียโนไฟฟ้า แม้จะมีการบันทึกเสียงแต่พวกเขาก็เล่นเหมือนซ้อมๆกันมากกว่า ด้วยจังหวะที่ช้ากว่า final version พอสมควร และ ณ ขณะนั้น ยังไม่มีความตั้งใจจะให้เพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของเมดเลย์แต่อย่างใด
She Came In Through The Bathroom Window ใน Abbey Road เชื่อมต่อกับ Polythene Pam (อาจจะกล่าวได้ว่าอินโทรของเพลงนี้ก็คือท่อนจบของ Pam) จอห์นร้อง 'look out' คอร์ดเปลี่ยนจาก E-Major มาเป็น A สร้างอารมณ์ euphoria สุดๆ การบรรเลงเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ท่อนลิคกีต้าร์สั้นๆของจอร์จ และเบสที่ดีดเด้งสุดฟังกี้ของพอล ก่อนที่เพลงจะจบลงอย่างสงบที่เวลาไม่ถึงสองนาที (แต่ความรู้สึกของเราคิดว่ามันนานกว่านั้น) มันเป็นการจบที่ไม่จบ ให้ความรู้สึกค้างคา ที่ยังต้องมีอะไรต่อ และมันก็ยังมี....

Golden Slumbers


หลังจาก "She Came In Through The Bathroom Window" ความต่อเนื่องของบทเพลงตั้งแต่ You Never Give Me Your Money ก็ถูกความเงียบเข้ามาขีดคั่น โดยทางเทคนิคอาจกล่าวได้ว่าเมดเลย์ชุดแรกจบลงไปแล้ว แต่ในทางอารมณ์มันยังไม่มีความรู้สึกว่าจบ เพียงแค่ตัวเชื่อมระหว่างเพลง ณ ที่นี้คือความเงียบงันเท่านั้นเอง ผู้ฟังเตรียมพร้อมสำหรับไคลแมกซ์สุดท้าย ซึ่งเมื่อ "บิ๊ว" กันมาขนาดนี้แล้ว คงจะน่าเสียดายมากถ้าบทจบจะไม่ดีงาม แต่ก็ไม่มีใครต้องผิดหวังในเมื่อไตรเพลงสุดท้ายที่ The Beatles จัดปิดท้ายนั้นเลยคำว่าดีงามไปมาก มันคือหัวใจแห่งความยิ่งใหญ่ของ Abbey Road Medley แทบจะนึกไม่ออกเลยว่าจะมีสามเพลงไหนมาปิดเมดเลย์ได้อลังการงานสร้างไปกว่านี้อีก
สัญญาณแห่งความเป็นนักแต่งเพลงอัจฉริยะของจอห์นและพอลอย่างหนึ่งคือ การหาแรงบันดาลใจได้จากทุกๆที่ในทุกๆวัน Golden Slumbers คือหนึ่งตัวอย่าง วันหนึ่งพอลนั่งเล่นเปียโนอยู่ที่บ้านของคุณพ่อของเขาที่ลิเวอร์พูล เขาเหลือบไปเห็นหนังสือโน้ตเพลงเก่าๆของน้องสาวบุญธรรมของเขา- Ruth ในนั้นมันมีบทเพลงชื่อ Golden Slumbers อันเป็นการประพันธ์ของ Thomas Dekker (1570-1692) จากปี 1603 (รุ่นเดียวกับเช็คสเปียร์) พอลถูกใจเนื้อเพลงของเพลงนี้ แต่เขาอ่านโน้ตไม่ออก (ตำนานว่าอย่างนั้น) และพอลก็จำทำนองของมันไม่ได้ เขาจึงจัดการใส่เมโลดี้เข้าไปในเนื้อเพลงของ Dekker
เนื้อเพลง "Golden Slumbers" ทั้งหมดของ Dekker มีดังนี้

Golden slumbers kiss your eyes, Smiles awake you when you rise ; Sleep, pretty wantons, do not cry, And I will sing a lullaby, Rock them, rock them, lullaby. Care is heavy, therefore sleep you, You are care, and care must keep you ; Sleep, pretty wantons, do not cry, And I will sing a lullaby, Rock them, rock them, lullaby.

พอลตัดเนื้อเพลงของ Dekker มาเพียงบางส่วนและดัดแปลงมาเป็นเนื้อเพลง "Golden Slumbers" ที่เรารู้จักกันดี เพลงนี้ถูกออกแบบมาตั้งแต่แรกเริ่มว่าต้องเล่นต่อเนื่องกับ Carry That Weight (อ้างอิงจากปากคำของพอลเอง, มีความเป็นไปได้ว่าพอลแต่ง Carry That Weight ก่อนแล้วจึงแต่งทำนองของ Golden Slumbers ให้สอดรับกับมัน)
พอลเริ่มเล่นสองเพลงนี้ตั้งแต่การซ้อมดนตรีใน Get Back Sessions ก่อนที่เขาจะคิดถึง The Abbey Road Medley ชุดใหญ่ ต่อมามันเป็นเพลงจากการแต่งเพลงของพอลเพลงที่สามที่ได้รับการบันทึกเสียงสำหรับเมดเลย์ ต่อจาก You Never Give Me Your Money และ Her Majesty
The Beatles เริ่มบันทึกเสียง Golden Slumbers/Carry That Weight กันในวันที่ 2 ก.ค.1969 ขณะนั้นจอห์นกำลังอยู่ในช่วงพักฟื้นหลังจากประสบอุบัติเหตุรถยนต์ แต่เขาก็ดูจะไม่ขัดอะไรกับไอเดียในการทำเมดเลย์ เบสิกแทร็คของสองเพลงนี้จอห์นไม่ได้เล่นอะไร พวกเขาอัดกันไป 15 เทค โดยมีพอลเล่นเปียโนและร้องไกด์, จอร์จเล่นเฟนเดอร์เบส, ริงโก้กลอง ใน Anthology DVD จะมีการถกเถียงกันเล็กน้อยว่าใครกันแน่ที่เล่นเบสเพลงนี้ แต่จอร์จ มาร์ตินสรุปว่า ในเมื่อมันอัดกันสดๆ และพอลเล่นเปียโนอยู่ ก็ต้องเป็นจอร์จอย่างแน่นอน
(จอห์นช่วยร้องคอรัสในเพลง Carry That Weight นั่นเป็นสิ่งเดียวที่เขาทำในสองเพลงนี้)
มีการ edit เทค 13 และ 15 เข้าด้วยกันในวันต่อมา และโอเวอร์ดับเสียงร้องและริธึ่มกีต้าร์ของพอลลงไปใน edited take นี้ รวมทั้งเสียงโซโล่กีต้าร์ของจอร์จ พอลเล่าให้ Barry Miles ฟังว่า เขาตั้งใจมากที่จะให้เสียงร้องของเขาดูเข้มแข็งอย่างยิ่งในเพลงที่อ่อนหวานนี้ มันฟังดูขัดๆกัน แต่เมื่อฟังแล้วก็ต้องบอกว่าพอลทำได้สำเร็จจริงๆ การบันทึกเสียงปิดท้ายด้วยการเติมเสียงกลองและทิมปานีโดยพอลและริงโก้ และออเคสตร้าวงใหญ่จากการกำกับของจอร์จ มาร์ติน
ถ้าท่านฟัง Golden Slumbers แล้วรู้สึกว่ามีอารมณ์เศร้าลึกล้ำ คล้ายคลึงกับในท่อนแรกของ You Never Give Me Your Money ก็อย่าได้แปลกใจ เพราะท่อนเปิดของสองเพลงนี้ใช้คอร์ดชุดเดียวกัน
และถ้า Golden Slumbers คือการกล่อมให้หลับใหล ให้หลุดพ้นจากโลกอันโหดร้ายและปวดร้าว เพลงต่อไปคือฝันร้ายที่จะตามมาหลอกหลอนที่มันอาจจะร้ายกาจเสียยิ่งกว่าความจริง เพราะมันคือความจริงที่รอพวกเขาอยู่

Carry That Weight


"....ใกล้ถึงจุดจบแล้ว และผลงานการประพันธ์ร่วม (ของจอห์นและพอล) Carry That Weight นั้นคือมวลแห่งสรรพเสียงอันแกร่งกร้าว, เดินไปด้วยจังหวะปานกลางดั่งกองทัพที่เต็มไปด้วยวินัย, เสียงร้องประสานแบบ pub chorus ที่ผ่านการซักซ้อมมาอย่างเข้มงวด จนกระทั่งมาถึงท่อนเสียงเครื่องเป่าอันเนี้ยบเฉียบตามมาถึงและมันก็ยังมีพาร์ทกีต้าร์ที่ดุดันอีกด้วย...."

-จากบทรีวิว Abbey Road ในนิตยสาร NME 20 กันยายน 1969

นั่นคือสิ่งที่นักวิจารณ์เขียนจากที่เขาได้ยินสดๆและมีข้อมูลไม่มากมายหลังจากแผ่นออกมาไม่กี่วัน แต่ 50 ปีผ่านไป เรารู้อะไรเกี่ยวกับ Carry That Weight มากกว่านักรีวิวคนนั้นบ้าง?
เรารู้ว่าเพลงนี้ถึงแม้จะลงเครดิตว่าเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์ แต่แท้แล้วมันเป็นผลงานการประพันธ์ของพอลคนเดียว พอลเล่าไว้ในหนังสือ Many Years From Now ถึงที่มาของ Carry That Weight
"โดยทั่วไปผมเป็นคนร่าเริงนะ แต่บางเวลา เรื่องต่างๆมันก็ถาโถมมาที่ผมอย่างสาหัสจนผมร่าเริงไม่ออก และนั่นก็เป็นหนึ่งในเวลาแบบนั้น เราเล่นแอซิดกันหนักมาก และไหนจะยาอื่นๆอีก และสิ่งที่ Klein ทำมันก็เริ่มที่จะบ้าบอมากขึ้น มากขึ้น และ มากขึ้น ผมมีความรู้สึกเหมือนต้องแบกภาระนี้นานแสนนาน นานเหมือนกับชั่วนิรันดร์! นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในเพลงนี้"
พอลคงไม่ได้ตั้งใจจะให้เพลงนี้หมายถึงการแบกภาระในความเป็น The Beatles ไปอีกนานเท่านาน หลังจากพวกเขาแตกวงกันไปแล้ว แต่คนนับล้านฟัง Carry That Weight แล้วก็คิดเช่นนั้น ความยิ่งใหญ่ของ The Beatles, ใครล่ะจะมาแบกรับแทนพวกเขาทั้งสี่ จวบจนชีวิตจะดับสูญ และแม้แต่หลังความตายไปแล้ว
เราไม่รู้แน่ชัด แต่เราสงสัยว่า มันเป็นเรื่องบังเอิญอีกหรือไม่ที่นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่เพลงที่ทั้งสี่ร่วมคอรัสพร้อมๆกันในแบบ unison แม้แต่จอห์นที่ยังไม่ค่อยหายดีก็มาร่วมร้องด้วย แม้แต่ริงโก้ที่ไม่ค่อยจะมีเอี่ยวในเรื่องแบบนี้ แต่ในเพลงนี้เสียงบาริโทนของเขาโดดเด่นกว่าใครๆ มันยังเป็นการคอรัสที่แตกต่างไปจากเพลงอื่นๆของพวกเขา ที่มักจะแฝงลูกเล่น หรือความสนุกสนาน แต่ใน Carry That Weight มันเต็มไปด้วยความซีเรียสจริงจัง นี่ไม่ใช่เรื่องตลก
เรารู้ว่าจอห์นมีความเห็นสำหรับเพลงนี้ว่า "ผมคิดว่าพอลแม่งโคตรเครียดเลยตอนนั้น" (จอห์นบอกไว้ในปี 1980)
Carry That Weight เปิดตัวขึ้นกลางเพลง Golden Slumbers ขัดจังหวะที่มันจะไปถึงคอรัสอีกรอบ มันเปิดตัวด้วยเสียงประสานกระหึ่มอันจริงจังนั้นทันที จากนั้น เสียงเครื่องเป่าในท่วงทำนองคุ้นหูของ You Never Give Me Your Money ถูกย้อนกลับนำมาใช้ และพอลร้องเดี่ยวอีกหนึ่งท่อน ด้วยเนื้อหาที่แตกต่างไปเล็กน้อย มันยังมีธีมที่ต่อเนื่องจาก 'Slumbers'
I never give you my pillow I only send you my invitations And in the middle of the celebrations I break down.
ยังไม่พ้นเรื่องหมอนๆ นอนๆ แต่สี่บรรทัดนี้ถ้าจะตีความ มันช่างกินใจลึก และไม่น่าเป็นอื่นไปได้นอกจากความระแหงใกล้จุดแตกดับใน"ครอบครัว"สี่เต่าทอง (สังเกตการออกเสียงคำว่า 'down' ของพอล)
การ reprise ทำนองและเนื้อหาจากเพลงต้นเมดเลย์ในตอนเกือบปลายเมดเลย์นี้ ทำให้ทุกอย่างเมคเซนส์ขึ้นมาโดยพลัน นี่ไม่ใช่การนำเศษเพลงเหลือๆมาร้อยต่อกันเฉยๆ แต่มันคือ sequence ของดนตรีที่ผ่านการไตร่ตรอง ทั้งความหมายของเนื้อหา และคุณค่าของดนตรี (ถ้าคุณไม่มองโลกร้ายเกินไป และคิดว่ามันเกิดจากพอลคิดอะไรไม่ออกแล้วจึงนำทำนองเดิมมารีไซเคิล) Carry That Weight คือฝันร้ายที่โหมกระหน่ำ หลังความพยายามจะข่มตานอนใน Golden Slumbers ทุกอย่างที่เราได้ยินคือการก้าวเดินสู่ไคลแมกซ์ในเพลงสุดท้ายที่พวกเขาพร้อมจะใส่ทุกอย่างที่มีลงไป
กล่าวโดยสรุป Carry That Weight คือส่วนประกอบของดนตรีสามชิ้น คอรัส 'Boy, you're gonna carry that weight' ท่อน reprise จาก 'You Never Give Me Your Money' ที่เปลี่ยนเนื้อเพลง, และท่อนจบที่เป็นเสียงกีต้าร์ในทำนองเดียวกับท่อน "One two three... all good children go to heaven" ของ You Never Give Me Your Money เช่นกัน
The Beatles บันทึกเสียง Carry That Weight สดๆไปพร้อมๆกับ Golden Slumbers ซึ่งรายละเอียดได้กล่าวไปแล้ว ความแตกต่างอาจจะมีแค่เสียงร้องของจอห์นในคอรัสเฉพาะเพลงนี้ และเสียงสแนร์และกระเดื่องของริงโก้ที่มีการ overdubs เพิ่มความหนักแน่นเป็นพิเศษยิ่งกว่าเดิม
และสุดท้าย เรารู้เหมือนกับนักวิจารณ์ NME คนนั้น

it's getting very near the end.