Tuesday 2 July 2019

Would you believe in a love at first sight?



Would you believe in a love at first sight?
Yes, I'm certain that it happens all the time
(from 'With A Little Help From My Friends" written by John Lennon & Paul McCartney)

ใช่, ผมเชื่อว่ารักแรกพบมีจริง
แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาหรอกนะ

เมื่อเพื่อนคนหนึ่งให้ผมยืมแผ่นเสียงเก่าๆ (น่าจะเป็นของญาติเขา) ที่มีหน้าปกเป็นชายสี่คนเดิมข้ามทางม้าลายนี้มาฟังที่บ้าน นั่นคือครั้งหนึ่งที่เรียกได้เต็มปากว่าคือรักแรกพบ (ยิน) ผมฟัง Abbey Road ด้วยข้อมูลที่มีบนปกหน้าและหลังแผ่นเสียงเท่านั้น ไม่รู้อะไรมากกว่า ไม่ทราบว่ามันคืองานสุดท้ายของพวกเขา มันน่าจะเป็นราวปี 1981 หลังจาก John Lennon เสียชีวิตไม่นาน และ สิบสองปี หลังจากโลกได้รู้จักอัลบั้มนี้ ณ ขณะนี้ ผมก็กำลังฟังมันอยู่ ไม่ใช่จากแผ่นเสียงแผ่นนั้น แต่เป็นการฟังจากเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ห่างไกลออกไป สตรีมมิ่งผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผมไม่อาจบอกคุณได้ว่ามันเป็นรอบที่เท่าไหร่ เพียงแต่บอกได้ว่ารักแรกพบนี้ไม่ได้จืดจางลงเลยแม้แต่นิดเดียว

เมื่อมีการถามถึงลิสต์อัลบั้มที่ชอบที่สุด ให้จัดกี่ครั้งก็คงแตกต่างกันออกไป แต่อันดับหนึ่งของผมไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่วันนั้นมา

เป็นการยากที่จะบอกว่าชอบอะไรในสิ่งที่คุณใกล้ชิดกับมันมากมายและแสนนานขนาดนี้ คุณคงให้อภัยที่มันจะเป็นรีวิวที่เอียงกะเท่เร่

The Beatles ไม่จำเป็นต้องทำอัลบั้มนี้ พวกเขาก็คงจะเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากนี้มากนัก พวกเขาสามารถจะเลิกรากันไปตั้งแต่ความล้มเหลวไม่เป็นท่าในการทำ Let It Be (ตอนนั้นเรียกว่า Get Back project) ก็ได้ เหมือนกับวงดนตรีระดับพระกาฬหลายๆวงที่มักจะวางมือกันไปด้วยงานที่เจ๊ง หรือพวกเขาอาจจะแตกสลายไปก่อนหน้านั้นด้วยอัลบั้ม White Album และทิ้งเพลง Good Night ให้เป็นเพลงอำลาตลอดกาล...ก็ยังได้

แต่พระเจ้าองค์ที่เขียนบทตอนนี้ คงไม่ประสงค์ให้เรื่องราวของสี่เต่าทองจบลงแบบไม่แฮปปี้ ท่านดลใจให้พวกเขา "ฮึด" เป็นครั้งสุดท้าย โทรศัพท์เรียกโปรดิวเซอร์คู่บุญ จอร์จ มาร์ติน กลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งมาร์ตินก็ตอบรับ ด้วยข้อแม้ง่ายๆ ว่าได้สิ แต่เราต้องทำงานกันแบบเดิมๆนะ มันเป็นข้อแม้ที่สำคัญเหลือเกิน

แม้ว่า Abbey Road จะไม่ถึงกับเป็นการย้อนกลับไปทำงานแบบร่วมมือร่วมใจเหมือนเดิมในยุคของ Sgt. Pepper หรือ Revolver ก็ตาม หลายครั้งที่พวกเขาไม่ได้อยู่ร่วมกันในห้องอัด แต่ผลงานที่ออกมาก็มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับที่คนฟังอย่างเราๆรู้สึกได้ เราไม่ได้รู้อะไรมากนักหรอกในสมัยนั้น เราก็แค่ฟังจากเพลงที่พวกเขาทำออกมา

ขณะที่พวกเขาเล่นดนตรีบันทึกเสียงกัน ไม่มีใครในเซสชั่นประกาศออกมาหรอกว่า นี่จะเป็นอัลบั้มสุดท้ายของ The Beatles แล้วนะ แต่จากปากคำของหลายๆคนที่มาเล่าให้ฟังภายหลัง ลึกๆแล้ว พวกเขารู้อยู่แก่ใจว่า นี่คงจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะทำงานร่วมกัน

ขอบคุณที่โลกยุคนั้น คนยังฟังเพลงกันด้วยสื่อที่แบ่งอัลบั้มออกเป็นสองหน้า เพราะความดรามาติกของหลายๆอัลบั้มรวมทั้ง Abbey Road คงจะจืดจางลงไปเยอะ ถ้าเปิดฟังกันรวดเดียวไม่มีการกลับด้านแผ่นหรือเทป แม้ทุกวันนี้จะฟังจากสตรีมมิ่ง แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะความทรงจำของเราจะย้ำเตือนอยูแล้วโดยอัตโนมัติ ว่านี่คือเวลาของด้านไหนของแผ่นเสียง

เป็นที่รู้กันว่าหน้าแรกคือหน้าของ 'rocker' ในแบบที่เลนนอนชอบ

และหน้าสองคือหน้าของ 'medley' ในแบบที่แมคคาร์ทนีย์คุม อย่าถามผมว่าชอบหน้าไหนมากกว่ากัน เพราะผมจะตอบแบบซื่อตรงว่าเท่ากัน ความยอดเยี่ยมของแต่ละเพลงคงไม่ต้องสาธยายกันอีก ถ้าคุณเคยฟังคุณคงทราบดี แต่ถ้าไม่เคย, ผมคงไม่สปอยล์มันตรงนี้

จากชื่อเพลงที่เหมือนประกาศการทำงานร่วมกันอีกครั้งใน Come Together จนถึงเพลงสุดท้ายที่"สุดท้าย"เสียออกนอกหน้าใน The End นี่คือการเขียนบทที่ทรงพลังที่สุดของพระเจ้า ในที่สุดตำนานบทนี้ก็จบลงแบบ happy ending

ความรักไม่ใช่คณิตศาสตร์ แต่ถ้ามันจะมีสมการสักสมการที่ไว้อธิบาย The Beatles ตั้งเอาไว้ให้แล้วในประโยคสุดท้ายในเพลงสุดท้ายของพวกเขา ที่เป็นคำตอบว่าทำไม The Beatles ถึงเป็นที่รักท่วมท้นเหลือเกิน......

ในท้ายสุดแล้ว รักที่คุณจะได้รับ=รักที่คุณได้สร้าง

และจากนี้ไป... ผมจะเล่าเรื่องราวของทุกเพลงใน Abbey Road ให้คุณฟังกัน

Come Together


แรงบันดาลใจของเพลงนี้นั้นมีหลายแง่มุมและเป็นที่ถกเถียงกัน ด้านหนึ่งเป็น Timothy Leary อีกด้านหนึ่งคือ Chuck Berry "Come Together" เดิมเป็นสโลแกนของทิโมธี่ ผู้เป็นนักจิตวิทยา,นักเขียน,นักปรัชญาและเป็นหนึ่งในสาวกของ LSD ที่เขาใช้ในการรณรงค์หาเสียงในการลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีแห่งแคลิฟอร์เนีย (คู่แข่งของเขาคือ โรนัลด์ รีแกน) สโลแกนเต็มๆของทิโมธี่คือ "Come together, join the party" คำว่าปาร์ตี้ในที่นี้อาจตีความได้สองความหมาย พรรคการเมือง หรือการชุมนุมเสพยากันตามวัฒนธรรมยอดฮิตยุคนั้น
วันที่ 30 พ.ค.ธิโมธี่เดินทางไปเยี่ยมจอห์นและโยโกะขณะที่ทั้งสองกำลังทำพิธีกรรม Bed-In อันโด่งดังอยู่ที่ Montreal เขาขอร้องให้จอห์นแต่งเพลงช่วยเขาหาเสียงในงานนี้ จอห์นนั้นชื่นชมทิโมธี่อยู่แล้ว เขาจึงตอบตกลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขาจะพยายามอยู่หลายต่อหลายครั้ง จอห์นก็พบว่าเขาไม่มีแก่ใจจะแต่งมันได้ สุดท้ายจอห์นก็เลยเขียนเพลงๆหนึ่งที่แทบไม่มีอะไรเกี่ยวกับไอเดียเริ่มแรกเลย ยกเว้นชื่อเพลงเท่านั้น และแคมเปญการหาเสียงของทิโมธี่ก็จบลงเมื่อเขาถูกจับในข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกับที่จอห์นกำลังนั่งเขียนเพลงให้เขาอยู่นั่นเอง
การที่ทิโมธี่ถูกจับทำให้สัญญาการแต่งเพลงให้กันระหว่างเขาและจอห์นจบลงโดยปริยาย จอห์นมอบเพลงนี้ให้ The Beatles เขาเล่าว่าเขาเขียนเนื้อเพลงส่วนใหญ่ในห้องอัดนั่นแหละโดยมีเพื่อนๆในวงช่วยๆกัน รวมทั้งจอร์จ, ผู้ซึ่งยืนยันว่าเขาได้แนะนำคำบางคำให้ด้วย อันเป็นคำที่จอร์จเรียกว่าเป็นคำแบบ"ติงต๊อง" นี่เป็นอะไรที่หลุดพ้นจากสารที่ทิโมธี่ต้องการจะสื่อในตอนแรกโดยสิ้นเชิง แต่มันกลับสะท้อนให้เห็นรสนิยมของอารมณ์ขันไร้ความหมายในแบบของเลนนอน ที่น่าสนใจก็คือ เพลงนี้มีอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเพลง "You Can't Catch Me" เพลงในปี 1956 ของ Chuck Berry สองเพลงนี้มีประโยคที่เกี่ยวเนื่องกัน เบอรี่เขียนไว้ว่า Here come old flat top / He was movin' up with me ขณะที่เนื้อเพลงของจอห์นมีประโยค Here come old flat top / he come groovin' up slowly
หลังจากซิงเกิ้ลนี้ออกมา Morris Levy อดีตเจ้าของคลับ Birdland ในนิวยอร์คและเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เพลง "You Can't Catch Me" ฟ้องจอห์นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เขาบอกว่าเพลงของจอห์นมีทำนองคล้ายเพลงของเบอรี่และเนื้อหานั้นยิ่งเหมือนเข้าไปใหญ่ มีการตกลงกันได้ในวันที่ 12 ตุลาคม 1973 โดยจอห์นตกลงที่จะนำเพลงในลิขสิทธิ์ของ Levy 3 เพลงมาบันทึกเสียงในอัลบั้มต่อไปของเขาอันจะมีชื่อว่า- Rock 'n' Roll แต่การทำอัลบั้มนั้นให้เสร็จมันกินเวลามากกว่าที่คาดกันไว้ จอห์นเริ่มต้นทำงานแต่เซสชั่นการบันทึกเสียงกลายเป็นความวุ่นวายโกลาหล เขาแยกตัวออกมาจากโยโกะในช่วงปี 1973-1975 (เรียกกันว่าเป็นช่วง "สุดสัปดาห์อันว้าเหว่" (Lost Weekend) อันโด่งดังในตำนานของเลนนอน) Levy หมดสิ้นความอดทน เขาตัดสินใจปล่อยแผ่นเสียงชื่อ "Roots" ออกมาในเดือนก.พ. 1975 มันเป็นเทปการซ้อมเล่นๆของจอห์นและลูกวงที่มีคุณภาพเสียงย่ำแย่และไม่ได้ตั้งใจจะทำออกขาย มันขายไปได้เพียง 1,270 ชุด จอห์นฟ้องเลวี่ให้หยุดการจำหน่ายอัลบั้มนี้ และเขาชนะ
หลังจากนั้นไม่กี่ปี Timothy Leary ออกมากล่าวตำหนิจอห์นว่าเขา"ขโมยไอเดีย" แต่จอห์นไม่ยอมรับ เขาเถียงว่าเขาไม่ได้เป็นหนี้อะไร Leary สักนิด ทั้งหมดที่ดูแสนจะวุ่นวาย แต่สุดท้ายในปี 1980 จอห์นก็สารภาพกับ David Sheff (นักสัมภาษณ์จากนิตยสารเพลย์บอย) ว่ามันเป็นหนึ่งในเพลงที่เขาชอบที่สุด "มันฟังกี้,มันบลูส์ และผมร้องมันได้เจ๋งทีเดียว ผมชอบสุ้มเสียงของมันในแผ่นเสียง คุณจะเต้นรำไปกับมันก็ได้ เป็นผมๆก็ซื้อมันนะ!"
หลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์, จอห์นกลับมา Abbey Road ในวันที่ 9 ก.ค. นับตั้งแต่เพลง "The Ballad of John and Yoko" เขาไม่ได้เขียนอะไรใหม่เลย แต่ในวันที่ 21 ก.ค. เขานำเสนอ "Come Together" ให้เพื่อนๆ และมันก็กลายเป็นหนึ่งในเพลงเอกของเขา ครั้งแรกที่จอห์นเล่นมันให้พอลฟังด้วยกีต้าร์โปร่ง พอลบอกทันทีว่ามันมีส่วนเหมือน 'You Can't Catch Me" ของ Chuck Berry มากทีเดียว เขาแนะนำให้ทำการ "โม" มันให้มากที่สุดเพื่อที่จะให้ได้เสียงที่หม่นมัวและจังหวะที่ช้าลง ผลก็คือท่อนเบสริฟฟ์ที่มหึมา,ลึกล้ำ และการเล่นกลองที่แสนเลอเลิศของริงโก้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของเพลงไปเลย
ในเบสิกแทร็ค จอห์นร้องเสียงไกด์ ,ปรบมือในช่วงอินโทร และเล่นแทมโบรีน จอร์จ-ริธึ่มกีต้าร์,พอล-เบส และริงโก้-กลอง เสียงออกมาน่ายำเกรงนัก จอร์จเอ่ยไว้ในปี 1969 ว่า "Come Together เป็นหนึ่งในสิ่งที่แจ่มแจ๋วที่สุดที่เราทำกันไว้ในแง่ดนตรี ริงโก้ตีกลองได้ยอดมาก" พวกเขาอัดเสียง "Come Together" กันด้วยเทปสี่แทร็ค และนำเทค 6 ที่เลือกกันแล้วว่าดีที่สุด ทรานสเฟอร์ต่อลงไปในเทปแปดแทร็ค
วันที่ 21 ก.ค. ยังเป็นวันที่ Geoff Emerick กลับมาทำงานที่ Abbey Roadในฐานะ full-time freelance sound engineer ให้ EMI อีกครั้ง เขาลาออกไปหลังจากทนความกดดันใน White Album recording sessions ไม่ไหว และคราวนี้ แม้ว่าพวกสี่เต่าทองจะเข้ากันได้ดีขึ้น แต่ความตึงเครียดก็ยังอยู่ในระดับสูง วันต่อมาจอห์นโอเวอร์ดับเสียงร้องของเขาพร้อมด้วยการใส่ดีเลย์สั้นๆลงไปด้วย เขาร้องคำว่า shoot me ที่เราจะได้ยินแค่คำว่า shoot เพราะเสียงเบสตามมากลบคำว่า me หมด (คนคิดมากอาจคิดว่านี่เป็นลางร้ายในอนาคตที่จอห์นจะต้องถูกยิงตายในปี 1980)
Emerick เล่าว่าพอลเล่นท่อนเปียโนให้จอห์นฟังเผื่อจะเอามาใช้ในเพลง จอห์นฟังแล้วก็ชอบ แต่เขาขอเล่นด้วยตัวเอง! มีการเพิ่ม maracas และริธึ่มกีต้าร์ลงไปอีก พอลยังขอร้องประสานเสียงร่วมกับจอห์นด้วย แต่จอห์นกลับตอบว่า "อย่ากังวลไปเลย, ไอจะโอเวอร์ดับเสียงไอเองในเพลงนี้" แต่เรื่องนี้พอลเล่าว่า "ใน Come Together ผมอยากจะร้องประสานกับจอห์น และผมก็คิดว่าจอห์นก็คงอยากได้ผมไปร้องด้วย แต่ผมรู้สึกเขินเกินไปกว่าที่จะไปบอกเขาตรงๆ และผมก็ไม่ได้พยายามเต็มที่ในสถานการณ์นั้น" จอห์นอ้างว่าเขาได้ขอให้เพื่อนร่วมวงทั้งสามช่วยกันเรียบเรียงเพลงนี้ เขารู้ดีว่า,ด้วยประสบการณ์ของทั้งสาม,พวกเขาจะรู้ว่าเขาต้องการอะไร "ผมคิดว่าส่่วนหนึ่งเป็นเพราะเราได้เล่นด้วยกันมาเป็นเวลานานแสนนาน ดังนั้นผมจึงพูดว่า 'ขออะไรฟังกี้ๆหน่อยเพื่อน'"
การบันทึกเสียงดำเนินต่อไป มีการอัดเสียงกีต้าร์หลายท่อนเพิ่มเติม รวมทั้งท่อนโซโล่มหากาฬของจอร์จ พอลอัดเสียงหายใจหนักหน่วงในตอนท้ายแต่หลังจากการมิกซ์เสียงนี้ก็ถูกกลบหายไป พวกเขาทำสเตอริโอมิกซ์ขั้นสุดท้ายกันในวันที่ 7 สิงหาคม 1969

Something


จอร์จแต่ง "Something" ด้วยเปียโนระหว่างการบันทึกเสียง White Album ในปี 1968 เขาเขียนมันอย่างรวดเร็วในสตูดิโอ 1 ที่เป็นห้องเดียวที่เหลือในขณะนั้น เพราะพอลใช้สตูดิโอ 2 อยู่ จอร์จเขียนเพลงนี้อย่างลื่นไหลจนเขาแปลกใจว่าอะไรมันจะมาง่ายขนาดนั้น ในการอัดเสียงเพลงนี้ เขาไม่ได้คิดถึง The Beatles แต่กลับเป็น เรย์ ชาร์ลส์ ผู้ซึ่งต่อมาก็นำเพลงนี้ไปร้องในอัลบั้ม Volcanic Action of My Soul ของเขาในปี 1971
จอร์จไม่ได้มีไอเดียอะไรสำหรับเนื้อเพลงๆนี้ แม้ว่าแพ๊ตตี้ บอยด์ ภรรยาคนแรกของเขาจะอ้างในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอว่าจอร์จเขียน"Something" ให้เธอโดยเฉพาะ บรรทัดแรกของเพลงนี้นำมาจากชื่อเพลง "Something In The Way She Moves" ของ James Taylor ผู้ซึ่งเพิ่งเซ็นสัญญากับ Apple ในการออกอัลบั้มเปิดตัวของเขาในปี 1968 ประโยคของเทย์เลอร์กลายเป็นเนื้อเพลงหลักที่จอร์จไม่เปลี่ยนแปลง เหลือเพียงท่อนบริดจ์ที่ต้องแต่งกันต่อ ในปี 1969 จอร์จบอกนักข่าว David Wigg ว่า จอห์นได้แนะนำเคล็ดลับบางอย่างให้เขา ".....เมื่อใดที่คุณเริ่มต้นเขียนเพลง พยายามแต่งมันให้จบขณะที่คุณยังอยู่ในอารมณ์เดิมขณะนั้น...."จอร์จเล่าต่อว่า "หลายครั้งที่คุณกลับไปทำมันต่อและพบว่าคุณอยู่ในสภาพจิตใจที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น,ตอนนี้ผมจึงพยายามทำมันให้เสร็จรวดเดียว"
19 กันยายน 1968 ขณะที่จอร์จกำลังทำเพลง "Piggies" อยู่ ระหว่างเทค เขาเล่นเพลง "Something" ให้คริส โธมัสฟัง (คริสรับหน้าที่โปรดิวเซอร์แทนจอร์จ มาร์ติน ในวันนั้น) โธมัสบอกจอร์จว่า "นั่นมันยอดมาก! ทำไมเราไม่ทำเพลงนี้แทนล่ะ?" จอร์จตอบว่า "นายชอบมันหรือ นายคิดจริงๆหรือว่ามันดี?" เมื่อโธมัสบอกว่าใช่ จอร์จบอกว่า "โอ, งั้นบางทีฉันอาจจะเอามันให้ Jackie Lomax นะ เขาอาจจะออกมันเป็นซิงเกิ้ลได้!" แต่สุดท้าย "Something" ก็ได้เปิดตัวใน Abbey Road และเป็นซิงเกิ้ลหน้าเอของ The Beatles มันเป็นซิงเกิ้ลหน้าเอเพลงแรกของจอร์จในประวัติศาสตร์ของวง ทุกวันนี้ "Something" เป็นหนึ่งในยี่สิบเพลงที่มีคนนำมาเล่นใหม่มากที่สุดในโลก
จอห์น เลนนอนคิดว่า "Something" เป็นแทร็คที่ดีที่สุดในอัลบั้ม ส่วนจอร์จ มาร์ตินก็รู้สึกแปลกใจที่จอร์จสามารถแต่งเพลงที่มีคุณภาพได้ถึงระดับนี้-ระดับเดียวกับเลนนอน-แมคคาร์ทนีย์เลยทีเดียว มาร์ตินรู้สึกละอายใจที่เขาไม่ได้ใส่ใจจอร์จมากเท่าจอห์นและพอล เขากล่าวไว้ว่า "Something เป็นเพลงที่มหัศจรรย์ แต่เราไม่ได้ให้เครดิตเขาเพียงพอ และเราไม่เคยคิดมาก่อนว่าเขาจะกลายมาเป็นยอดนักแต่งเพลง" ส่วนริงโก้สรุปไว้ว่า "มันน่าสนใจตรงที่ว่า จอร์จได้ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าตอนที่เรากำลังจะแตกวงพอดี"
25 ก.พ. 1969 วันเกิดครบรอบ 26 ปีของจอร์จ แฮริสัน เขาเดินเข้าไปใน Abbey Road คนเดียวเพื่ออัดเดโม 8 แทร็คสำหรับเพลงสามเพลงของเขา "Old Brown Shoe", "All Things Must Pass" และ "Something" "Old Brown Shoe" ต่อมากลายเป็นหน้าบีของซิงเกิ้ล "The Ballad of John and Yoko" ส่วน "All Things Must Pass" ไปอยู่ในอัลบั้มเดียวสามแผ่นของจอร์จที่จะออกในปี 1970 ส่วน "Something" กลายเป็นเพลงของ Beatles ที่มีคนนำมา cover มากที่สุดรองจาก "Yesterday" วันนั้นจอร์จเหมาคนเดียวทั้งกีต้าร์,เปียโนและร้อง โดยมี Ken Scott อยู่ใน control room เวอร์ชั่นแรกนี้มันออกไปในแนวนุ่มนวลอย่างยิ่ง เนื้อเพลงบางส่วนถูกตัดไปใน final version และกลายเป็นท่อนโซโลกีต้าร์แทน The Beatles เริ่มเล่นเพลงนี้ในวันที่ 16 เมษายน 1969 และในวันที่ 2 พ.ค. พวกเขาก็ได้เทคที่ดีที่สุด (36) อันมีจอร์จเล่นกีต้าร์ผ่าน Leslie speaker, พอลเล่นเบส, จอห์นกีต้าร์โปร่ง,บิลลี่ เพรสตันเล่นเปียโน และกลองโดยริงโก้ เทค 36 นี้มีความยาวถึง 7:48 โดยมีท่อน coda ตอนท้ายเพลงยาวกว่า 4 นาที ส่วนใหญ่ของท่อน coda นี้จะเป็นเสียงเปียโนสี่โน๊ตของจอห์นจนกระทั่ง fade out ต่อมาจอห์นย่อท่อนนี้ลงเหลือ 2:32 และนำมันไปแต่งต่อเป็นเพลง "Remember" ในอัลบั้ม John Lennon/Plastic Ono Band ของเขาในปี 1970
ยังมีเซสชั่นต่อมาตามมาอีก ในวันที่ 5 พ.ค. พอลบันทึกเสียงท่อนเบสของเขาที่ Olympic Sound Studios (ได้ Glyn Johns ควบคุมการบันทึกเสียง) เสียงเบสที่ได้นี้ใช้เทคนิคใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น มันเป็นการผสมระหว่างเสียงที่ได้จากการเสียบเครื่องดนตรีเข้าไปในคอนโซลโดยตรงรวมกับเสียงที่ออกมาจากแอมป์ จอร์จที่ขณะนั้นมีความมั่นใจในตัวเองสูงกว่าสมัยก่อน กล้าพอที่จะวิจารณ์การเล่นเบสของพอล เขาบอกให้พอลเล่นมันให้ธรรมดาลงกว่านี้หน่อย จากนั้นจอร์จก็อัดเสียงโซโล่กีต้าร์ของเขาผ่านลำโพง Leslie

ในวันที่ 11 ก.ค. จอร์จเริ่มบันทึกเสียงร้องนำของเขาเป็นครั้งแรกโดยมีบิลลี่ เพรสตันเล่นออร์แกนไปด้วย ในวันที่ 16 ก.ค. เป็นวันที่จอร์จอัดเสียงร้องในขั้นสุดท้าย เพื่อสร้างอารมณ์และสมาธิ มีการหรี่ไฟในห้องอัดให้จอร์จเป็นพิเศษด้วยขณะที่เขาร้อง พอลเพิ่มเติมเสียงร้องสนับสนุน และพอล,จอร์จ และริงโก้เพิ่มเสียงปรบมือลงไปอีกนิดหน่อย ในวันที่ 15 สิงหาคม มีการอัดเสียงออเคสตร้าสำหรับหลายเพลง "Golden Slumbers", "Carry That Weight", "The End","Here Comes The Sun" และ "Something" ด้วย จอร์จ มาร์ตินเป็นคนเขียนสกอร์และกำกับวงด้วยตัวเองในสตูดิโอ 1 ถึงตอนนี้เหลือเพียงแค่แทร็คเดียวในเทปที่จะบันทึกเสียงกีต้าร์และออเคสตร้า จอร์จต้องเล่นไปพร้อมๆกับวงออเคสตร้าในเทคเดียว และด้วยความมั่นใจ เขาปลดปล่อยท่อนโซโล่อันสุกสกาวนั้นออกมาอย่างหมดจด ในที่สุดการบันทึกเสียง "Something"ก็เสร็จสมบูรณ์ มีการทำสเตอริโอมิกซ์ในวันที่ 19 สิงหาคม และท่อน coda ยาวเหยียดนั้นก็ถูกใครบางคนลบทิ้งไป

Maxwell's Silver Hammer


พอลแต่ง "Maxwell's Silver Hammer" ในปี 1968 ระหว่างการบันทึกเสียง The White Album ก่อนหน้านั้นสองปีเขาสนใจในคอนเซพท์ของ Alfred Jarry เจ้าของหนังสือ Ubu The King ที่เกี่ยวกับ pataphysics อันเป็นปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องเพี้ยนๆและเหนือจริง พอลกล่าวกับเรื่องแนวคิดนี้ที่เขารู้ว่าน้อยคนนักที่จะเข้าใจว่า "ผมเป็นคนๆเดียวที่เคยนำชื่อของ pataphysics ขึ้นอันดับเพลง, เอาน่า! มันเจ๋งดีออก ผมรักมุกเหนือจริงเล็กๆน้อยๆแบบนั้นนะ" แนวคิดหลักของ "Maxwell's Silver Hammer" ก็คือหนทางในการที่จะจัดการกับปัญหาที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนในขณะที่อะไรๆกำลังไปด้วยดี ทำไมเขาถึงต้องให้ฆ้อนนี้เป็นเงินด้วยล่ะ? เขาบอกว่า "ผมไม่รู้ว่าทำไมมันถึงเป็นซิลเวอร์ มันแค่ฟังแล้วเพราะกว่า แม๊กซ์เวลล์'ส แฮมเมอร์ เฉยๆน่ะ"
The Beatles ซ้อมเพลงนี้ในเดือนมกราคม 1969 ที่ Twickenham Film Studios ระหว่างGet Back sessions ในวันที่ 9 ก.ค.พวกเขาเริ่มการบันทึกเสียง 'Maxwell's Silver Hammer" เป็นวันเดียวกับที่จอห์นกลับเข้าห้องอัดหลังจากอุบัติเหตุรถยนต์ในสก๊อตแลนด์ จอห์นไม่ชอบเพลงนี้และขอถอนตัวจากการเล่นมันด้วยเหตุผลว่ามันเป็น "แค่อีกเพลงในแนวคุณปู่ของพอล" พวกเขาเล่นเบสิกแทร็คกันเสร็จเรียบร้อยใน 21 เทค โดยมีพอลเล่นเปียโน,จอร์จเล่นเบส, และริงโก้-กลอง ในวันต่อมาเป็นเรื่องของการโอเวอร์ดับ จอร์จเล่นกีต้าร์ทั้งไฟฟ้าและโปร่ง, พอลร้องดับเบิลแทร็ค และแฮมมอนด์ออร์แกนจากฝีมือของจอร์จ มาร์ติน
ไฮไลท์ของเซสชั่นนี้คือการตี blacksmith's anvil "Bang! Bang!" โดยริงโก้ (จากคำขอร้องของพอล) ในท่อนคอรัส มาล อีแวนส์เป็นคนยืมเครื่องดนตรีแปลกหน้านี้มาจากเอเจนซี่ภาพยนตร์คนหนึ่ง แต่จากปากคำของ Geoff Emerick คนที่ตี anvil นี้คือ Mal Evans "ริงโก้ไม่มีแรงพอที่จะยกฆ้อน ดังนั้นสุดท้ายจึงเป็นมาลที่เป็นคนตี แต่เขาก็ไม่รู้จังหวะในการตี มันจึงใช้เวลาพอสมควรกว่าจะได้เทค"
หลังจากมิกซ์ไปสิบสามรอบ พอลก็ยังไม่พอใจกับมัน เขาอ้อนให้จอห์นมาช่วยร้องสนับสนุน แต่จอห์นส่ายหัว และเลือกที่จะนั่งอยู่ข้างๆโยโกะมากกว่า จอห์นนั่งกอดอกอยู่ด้านหลังห้องอัดสักพักหนึ่งแล้วก็กลับบ้าน จากปากคำของ Tony Clark วิศวกรเสียงคนนึง "ผมมีส่วนร่วมในสามสัปดาห์สุดท้ายของ Abbey Road พวกเขาเปิดห้องอัดสองห้องไปพร้อมๆกัน และผมมีหน้าที่นั่งประจำในสตูดิโอ 2 หรือ 3 ส่วนมากจะเป็น 3 แค่ไปนั่งอยู่ที่นั่น, เผื่อจะมีเต่าทองคนไหนต้องการจะเข้ามาโอเวอร์ดับ ในช่วงนี้ของการทำอัลบั้มผมไม่คิดว่าผมเห็นพวกเขาสี่คนพร้อมๆกัน"
จอห์น "ผมคิดว่าเขาทรมานจอร์จกับริงโก้มากในการบันทึกเสียงเพลงนี้ เราเสียเงินไปกับมันมากกว่าเสียให้ทั้งอัลบั้ม,ผมว่านะ" พอลต้องการให้เบสในเพลง "Maxwell's Silver Hammer" ให้เสียงเหมือน tuba เพลงจะได้มีเสียงออกแนวโบราณๆ เขาทำเสียงนั้นได้ด้วยการเล่นเบสแบบเนียนโน๊ตต่อเนื่องกันแทนที่จะเล่นเป็นโน้ตๆ วันต่อมาเป็นการอัดเสียงกีต้าร์และเสียงร้องเพิ่มลงไป ในวันที่ 6 สิงหาคม พอลเล่น Moog เสริมเข้าไปอีก มันเป็นครั้งแรกที่ Beatles ใช้เครื่องดนตรีนี้
มีการมิกซ์หลายครั้งจากนั้น เริ่มจากวันที่ 14 สิงหาคม ในวันที่ 25 สิงหาคม มีการใส่เอ็ฟเฟ็คมากมายเติมลงไป แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ พวกเขาเลือกมิกซ์ในวันที่ 14 สิงหาคมเป็น final mix

Oh! Darling


พอลแต่ง Oh! Darling ในสไตล์บัลลาดร็อคแอนด์โรลจากยุค 50's มันแสดงให้เห็นอีกครั้งถึงความเฉียบขาดของเขาในฐานะนักร้อง เริ่มแรกมันมีชื่อเต็มๆว่า "Oh! Darling (I'll Never Do You No Harm)" พวกเขาร้องเล่นมันครั้งแรกใน Get Back session วันที่ 27 มกราคม 1969 ที่ Apple studio ที่นาย "Magic Alex" จอมเพี้ยนเป็นผู้ออกแบบ ในตอนนั้น Oh! Darling มีพอลร้องและเล่นเบส,จอร์จเล่นกีต้าร์, จอห์นร้องช่วยและเล่นกีต้าร์,ริงโก้กลอง และ บิลลี่ เพรสตันเล่นเปียโนไฟฟ้า ระหว่างการบันทึกเสียงนี้ จอห์นได้รับข่าวดีสำหรับเขา คือการหย่าร้างระหว่างโยโกะและสามี Anthony Cox ที่จะมีผลในวันที่ 2 ก.พ. 1969 คุณจะได้ยินได้ในตอนท้ายของเพลงนี้ในเวอร์ชั่นของอัลบั้ม Anthology 3 จอห์นพูดว่า "ไอได้ยินว่าเรื่องหย่าของโยโกะเรียบร้อยแล้ว เป็นอิสระแล้วเรา! " เขาแสดงความปลาบปลื้มด้วยการร้องมันลงไปในเพลงด้วยก่อนจบ
The Beatles ไม่ได้กลับมาที่ Abbey Road Studios อีกจนกระทั่งวันที่ 20 เมษายนเพื่อที่จะได้อัดเสียงเพลงนี้แบบสมบูรณ์แบบ พวกเขาอัดกัน 26 เทค เป็นที่เชื่อกันว่าพอลเป็นคนเล่นเบสและจอห์นเล่นเปียโนแต่จากการฟังและการวิเคราะห์เสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมันน่าจะเป็นตรงข้ามมากกว่า ส่วนจอร์จนั้นไม่ต้องสงสัยเขาเล่นริธึ่มกีต้าร์ผ่านลำโพงเลสลีย์และริงโก้เล่นกลอง พวกเขาพยายามทำมันออกมาให้ได้ฟีลของการบันทึกสดๆ ระหว่างเซสชั่นแรกนี้ บิลลี่ เพรสตันเล่นแฮมมอนด์ออร์แกนแทนที่จะเป็นเปียโนไฟฟ้า แต่สุดท้ายเสียงนี้ก็ถูกลบออกในวันที่ 26 เมษายน
บ้านของพอลอยู่ห่างจาก Abbey Road ไปไม่กี่ป้าย เขาจึงไม่มีปํญหาในการมาถึงห้องอัดก่อนคนอื่นๆประมาณ 1 ชั่วโมง พอลจะซ้อม,อุ่นเครื่องและบันทึกเสียงร้องของเขาก่อน เขาอัดเสียงเพลงนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่สนใจคำทัดทานของจอร์จ มาร์ตินที่บอกว่า เขาน่าจะได้เวอร์ชั่นที่ดีที่สุดแล้ว พอลบอกไว้ว่า "ผมมาที่สตูดิโอก่อนคนอื่นทุกๆวันเป็นเวลาอาทิตย์นึงเพื่อที่จะร้องมันคนเดียวเพราะว่าตอนแรกเสียงร้องของผมมันกระจ่างใสเกินไป ผมอยากจะให้เสียงผมมันออกมาเหมือนกับว่าผมได้ไปแสดงบนเวทีมาตลอดสัปดาห์น่ะ"
การถ่ายทอดเพลงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย พอลร้องนำด้วยเสียงอันโดดเด่นแต่เขายังไม่สามารถได้เสียงแหบกร้านอย่างที่เขาคาดไว้ อลัน พาร์สันส์ ผู้ที่เป็นผู้ช่วยเอ็นจิเนียร์เล่าว่า "บางทีความทรงจำที่เด่นชัดที่สุดของผมในการทำงานใน Abbey Road sessions ก็คือการได้เห็นพอลเดินเข้ามาในสตูดิโอ 3 ตอนประมาณบ่ายสองถึงสองครึ่งของทุกๆวัน มาคนเดียว,เพื่อที่จะมาร้อง Oh! Darling เขาจะเข้ามา ร้องเสร็จ แล้วก็บอกว่า 'ไม่นะ มันยังไม่ใช่ ผมจะลองใหม่พรุ่งนี้' เขาจะร้องมันแค่วันละครั้งเดียว ผมเดาว่าเขาต้องการความหยาบกร้านในเสียงที่จะทำได้ครั้งเดียวก่อนที่เสียงจะเปลี่ยนไป ผมจำได้ว่าเขาพูดว่า 'ถ้าเป็นห้าปีก่อน แป๊บเดียวผมก็ทำเสร็จแล้ว' ผมคิดว่าเขาคงหมายถึงช่วงที่พอลร้องเพลงอย่าง Long Tall Sally หรือ Kansas City" John Kurlander ก็ได้เห็นการโอเวอร์ดับด้วย "ผมคิดว่าพอลต้องการคุณภาพแบบ-- สิ่งแรกในรุ่งเช้า หรืออาจจะเป็น สิ่งสุดท้ายยามราตรี ไม่ว่ามันจะเป็นยังไง พอลจะเข้ามาเร็วทุกวัน หนึ่งชั่วโมงก่อนคนอื่นๆเพื่อจะได้มาร้องเพลงนี้ โดยเขาจะอัดทับอันเก่าๆเสมอจนกว่าเขาจะได้เทคที่เขาชอบ" พอลร้องมันครั้งสุดท้ายในวันที่ 23 ก.ค. ถึงตอนนั้นเขาก็มีจำนวนเทคมาพอที่จะตัดต่อแต่ละส่วนเข้าเป็นแทร็คเดียวที่ยอดเยี่ยมได้
วันที่ 8 สิงหาคม ก็เป็นวันที่น่าจดจำ พวก Beatles ถ่ายปกอัลบั้มกันที่ทางม้าลายหน้า Abbey Road โดยตากล้อง Iain MacMillan และบ่ายวันนั้น พอลดอดเข้าไปในสตูดิโอหมายเลขสามคนเดียวเพื่อที่จะอัดเสียงลีดกีต้าร์โซโลและแทมโบรีน แต่ในมิกซ์สุดท้ายสองเสียงนี้ก็ถูกตัดทิ้งไป พวกเขาอัดเสียงร้องสนับสนุนเพิ่มเติมลงไปในวันที่ 11 สิงหาคม โดยลบเสียงร้องสนับสนุนของจอห์นที่อัดไว้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมทิ้งไป
การร้องของพอลในเพลงนี้ต้องเรียกได้ว่าเด็ดขาดสุดๆ ตรงกันข้ามกับที่จอห์นเคยค่อนแคะไว้ภายหลัง ( "Oh! Darling เป็นเพลงของพอลที่เขาแต่งได้ดีแต่ร้องไม่ดีเท่าไหร่ ผมคิดเสมอว่าผมร้องได้ดีกว่าเขา มันเป็นสไตล์ของผมมากกว่าพอลน่ะ แต่ก็อย่างว่าล่ะนะ เขาเป็นคนแต่ง เขาก็ต้องอยากร้องเอง แต่ถ้าเขามีสามัญสำนึกสักนิด เขาก็ควรจะให้ผมร้องน่ะ (หัวเราะ)"--จอห์นเล่าไว้ในปี 1980) และทางกลองของริงโก้ก็ยอดเยี่ยม

พอลต้องการให้ได้บรรยากาศแบบสดๆในเพลงนี้เขาจึงไม่ได้ใส่หูฟังในการร้อง เพื่อที่เขาจะได้ยินเสียง feedback ตรงๆจากลำโพง เหมือนกับที่ Beatles ทำกันมาตลอดในการบันทึกเสียงยุคแรกๆก่อนปี 1966

Octopus's Garden


มันคือวันที่ 22 สิงหาคม 1968 ริงโก้ สตาร์เดินออกจากเซสชั่นการบันทึกเสียงเพื่ออัลบั้ม The White Album เขาไม่อาจทนความเครียดที่เกิดขึ้นในวงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอีกต่อไป ไหนยังจะคำวิพากษ์วิจารณ์ของพอลที่ทำให้เขาถึงกับสงสัยในความสามารถด้านตีกลองของตัวเอง ด้วยความผิดหวัง, ขมขื่น และหมดแรง มือกลองหนุ่มพาภรรยาและลูกๆไปตากอากาศแก้เซ็งที่ Sardinia ด้วยเรือยอชท์ที่ยืมมาจากเพื่อนดาราของเขา, ปีเตอร์ เซลเลอร์ส ในมื้อกลางวันหนึ่งของการพักผ่อนนี้ ริงโก้พบว่าอาหารที่เสิร์ฟไม่ใช่ fish and chips ที่คุ้นเคย แต่เป็น...ปลาหมึกยักษ์ เขาไม่เคยกินอะไรแบบนี้มาก่อน กัปตันเล่าให้ฟังถึงพฤติกรรมแปลกๆของเจ้าหมึกยักษ์นี้ มันจะชอบสะสมและจัดวางเปลือกหอยสวยๆงามๆไว้รอบๆถ้ำของมันราวกับมันเป็นสวนเล็กๆ ริงโก้ชอบใจและนำมันไปเขียนเพลงเกี่ยวกับสวนของหมึกยักษ์นี้ทันที มันคือผลงานการประพันธ์ชิ้นที่สองของเขาต่อจาก Don't Pass Me By ใน The White Album
หลังจากกลับจาก Sardinia ริงโก้นำเสนอเพลงนี้ให้ทางวงพิจารณา แต่มันก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ใน The White Album แต่อย่างใด The Beatles เริ่มนำ Octopus's Garden มาเล่นกันครั้งแรกในเดือนมกราคม 1969 ใน Get Back sessions ที่ Twickenham Film Studios ในภาพยนตร์ Let It Be เราจะได้เห็นจอร์จช่วยริงโก้แต่งท่อนบริดจ์ของเพลงนี้ด้วยเปียโน จอร์จแนะนำให้ริงโก้เริ่มเพลงนี้ด้วยคอร์ดเมเจอร์แทนที่จะเป็นไมเนอร์ จอร์จ มาร์ตินจ้องมองอยู่อย่างสนใจ ส่วนจอห์น เลนนอน ช่วยตีกลอง!
แม้เพลงนี้จะดูขำๆ ฮาๆ แต่ถ้าเรามองดูเนื้อเพลงดีๆจะพบว่ามันอาจจะบอกอะไรบางอย่างถึงความยากลำบากของวงในขณะนั้น วลีอย่าง We would be warm, below the storm และ We would be so happy you and me / no one there to tell us what to do อาจจะเป็นการบรรยายด้วยจิตใต้สำนึกถึงตัวริงโก้และจอร์จและความเครียดเค้นที่พวกเขารู้สึกได้ ก่อนที่จะถึงเวลาวงแตก
เมษายน 1969 ที่ Abbey Road ริงโก้, ผู้ไม่ได้ร้องเพลงอะไรเลยใน Get Back sessions จับไมค์ร้องเพลงที่เขาแต่งเองนี้ โดยพอลและจอร์จอยู่ในอารมณ์แจ่มใส ส่วนจอห์นเดินไปเดินมาไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน Geoff Emerick เล่าว่า พอลและจอร์จกระตือรือร้นมากกับการเล่นเพลงนี้ราวกับเป็นเพลงของพวกเขาเอง พวกเขาเริ่มเล่นเพลงนี้กันจริงๆจังๆเพื่อการบันทึกเสียงในวันที่ 26 เมษายน อัดกันไปสามสิบสองเทคเป็นอย่างน้อย โดยมีพอลเล่นเบส, จอร์จโซโลกีต้าร์อย่างเฉียบขาด มันเป็นการพิสูจน์อีกครั้งถึงความยอดเยี่ยมของฝีมือของเขา ณ ขณะนั้น ริงโก้ตีกลองและร้องไปด้วย ใน Anthology 3 เราจะได้ยินริงโก้ล้อเลียนตัวเองหลังจากจบเทค 8 ว่า "เฮ้ มันยอดไปเลยโว้ย!" พอลเติมเสียงเปียโนสไตน์เวย์เพี้ยนๆ และเนื่องจากเพลงนี้ค่อนข้างจะเรียบง่าย การบันทึกเสียงในวันแรกนี้จึงออกมาใกล้เคียงกับ final version วันนี้จอร์จ มาร์ตินไม่อยู่ในห้องอัด เครดิตโปรดิวเซอร์จึงเป็นของ คริส โธมัส และ เดอะ บีทเทิลส์ เอง
สามวันต่อมา ริงโก้ซึ่งไม่พอใจกับเสียงร้องของเขานัก อัดเสียงร้องทับลงไปอีกที จากนั้นเพลงก็ถูกเก็บขึ้นหิ้งยาวไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจึงมีการโอเวอร์ดับและมิกซ์ พอลและจอร์จให้เสียงร้องประสานแบบ falsetto พอลเติมเปียโนอีกหน่อย และจอร์จใส่กีต้าร์ลงไปอีกนิด จอห์นช่วยริธึ่มกีต้าร์ ริงโก้เป่าฟองอากาศลงไปในแก้วน้ำ เทคนิคเดิมๆที่เคยใช้ใน Yellow Submarine ที่เขาก็ร้องนำเช่นกัน และเกี่ยวกับทะเลเช่นกัน
วันต่อมาริงโก้ร้องนำครั้งสุดท้ายและเติมเสียงกลองทอมทอมลงไปก่อนท่อนสร้อยทุกท่อน การมิกซ์ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในวันที่ 18 ก.ค. 1969 น่าสนใจที่มีการมิกซ์แบบโมโนด้วย แต่ก็ยังไม่เคยมีการนำออกเผยแพร่จนทุกวันนี้

I Want You (She's So Heavy)


"I Want You ก็คือตัวผมเองร้องให้โยโกะ" จอห์นสรุปสั้นๆถึงเพลงนี้จากการให้สัมภาษณ์กับ David Sheff (Playboy Interview) อันโด่งดังในปี 1980 ง่ายๆอย่างนั้นแหละ เพลงนี้ถ้าจะนับคำจริงๆก็มีคำแค่ประมาณ 1 โหลเท่านั้น แต่ความพอเพียงของภาษานี้ถูกนำมาใช้อย่างทรงพลังและได้ประสิทธิผลในความเป็นตัวตนอย่างยิ่งของเลนนอน เขานำหัวใจออกมาแผ่หรา, ไม่มีการผ่อนปรนอะไร, อย่างที่เขาเป็นเสมอมา แต่ในปี 1970 จอห์นกล่าวไว้ได้ฮากว่านั้น
"มีคนบอกว่าในเพลงนี้ผมหมดสภาพในความเป็นอัจฉริยะด้านการเขียนเนื้อเพลงไปแล้ว มันธรรมดาและน่าเบื่อหน่ายเหลือเกิน ผมจะบอกคุณให้นะว่า She's So Heavy มันเกี่ยวกับโยโกะ และเมื่อเราพูดกันถึงเรื่องนี้ มันก็เหมือนคุณกำลังจะจมน้ำตาย คุณจะไม่พูดหรอกว่า ผมจะยินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าใครสักคนจะมีวิสัยทัศน์พอที่จะเห็นว่าฉันกำลังจะจมน้ำและยื่นมือเข้ามาช่วยผม คุณแค่กรีดร้อง และใน She's So Heavy ผมก็เป็นอย่างนั้น ผมแค่ร้องว่า I want you, I want you so bad, she's so heavy, I want you จบนะ"
จอห์นอาจจะได้แรงบันดาลใจบางอย่างของริธึ่มของเพลงนี้มาจากเพลง "Comin' Home, Baby" เพลงของ Mel Torme ในปี 1962 ใน I Want You นี้เราอาจจะแบ่งมันออกได้เป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นการร้อง และส่วนที่เป็นการบรรเลง ส่วน"ร้อง" เป็นบลูส์ไมเนอร์สเกลที่มีเสียงร้องทับไปกับการโซโลกีต้าร์ ส่วน"บรรเลง"นั้นแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นเอกเทศออกจากส่วนแรก มันเป็น harmonic progression ที่เล่นในแบบ arpeggios ด้วยกีต้าร์ที่ซ้อนทับกันหลายชั้นสำหรับส่วนที่เป็น 'coda' ของบทเพลง จอห์นพยายาม"บิ๊ว"ความเครียดเค้นขึ้นเรื่อยๆเพื่อแสดงถึงความลุ่มหลงที่เขามีให้ต่อโยโกะ
The Beatles เริ่มซ้อมเพลงนี้กันในวันที่ 29 มกราคม 1969 ก่อนคอนเสิร์ตบนหลังคาอันยิ่งใหญ่ 1 วัน ตอนนั้นเพลงนี้ยังมีชื่อแค่ 'I Want You' เท่านั้น ('She's So Heavy ถูกเติมเข้ามาภายหลังในวันที่ 11 สิงหาคม) แต่การเล่นอย่างจริงจังเกิดขึ้นครั้งแรกที่ Trident Studios ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พวกเขาเล่นกันไป 35 เทค จอห์นร้องนำได้เด็ดดวงและเล่นกีต้าร์คู่ไปกับจอร์จ ส่วนพอลก็ไม่น้อยหน้า ปล่อยท่อนเบสสุดคูลซึ่งช่วยประสานรอยต่อระหว่างบลูส์ริฟฟ์, glissandos และจังหวะละติน Billy Preston วาดฝีมือออร์แกนอย่างฟู่ฟ่า ขณะที่ริงโก้คุมจังหวะหนักแน่น วันต่อมาจอห์นพบว่าเขาไม่พอใจเทคไหนเต็มๆสักเทค จึงสั่งให้มีการควบสามเทคเข้าเป็นหนึ่งเดียว เสียงร้องของจอห์นตอนต้นเพลงจากเทค 9, ท่อน middle eight จากเทค 20 ส่วนที่เหลือมาจากเทค 32 รวมเวลาแล้วผลจากการรวมนี้ได้เพลงที่มีความยาวมากกว่า 8 นาที อีกวันต่อมา (24 ก.พ.) มีการทำ edited master และนี่คือผลลัพธ์ของ 'Trident Recording' สำหรับ I Want You
กระโดดมาในวันที่ 18 เมษายน ที่ Abbey Road จอห์นและจอร์จบันทึกเสียงกีต้าร์เพิ่มเติมลงไปอีกมากมายในท่อนอินโทรและโคดาของเพลงนี้ เสียงกีต้าร์ arpeggios เป็นการเล่นแบบ unison ของทั้งสอง ทั้งจอห์นและจอร์จพ่วงกีต้าร์ของเขาเข้ากับ Fender Twin Reverb และบิดโวลลุ่มไปที่เกือบสุดเพื่อที่จะให้ได้เสียงที่มหึมาที่สุด แต่การที่อัดเสียงกีต้าร์เข้าไปมหาศาลแบบนี้ก็ทำให้เสียงออร์แกนของบิลลี่ เพรสตันถูกกดจมหายไป อย่างไรก็ตามในวันที่ 20 เมษา อาจจะเป็นพอลที่อัดเสียงแฮมมอนด์ออร์แกนเพิ่มเข้าไปอีก และริงโก้ตีคองก้าใส่เข้าไปด้วย
จนกระทั่งวันที่ 8 สิงหาคม พวกเขากลับมาหาเพลงนี้อีกครั้ง จอห์นอัดเสียง 'white noise' จาก Moog ลงไป เขาถูกใจเสียงนี้เพราะมันมีความน่ากลัวและความหลอนที่เหมาะมากกับตอนท้ายของเพลงนี้ ริงโก้เพิ่มเสียงสแนร์ลงไปอีก, 11 สิงหา จอห์นพอลและจอร์จร่วมกันร้องคอรัส she's so heavy ลงไปในมาสเตอร์ของวันที่ 18 เมษายน ในช่วงนี้มีความสับสนในการ label ที่มาสเตอร์ที่ชวนงงเล็กน้อย แต่อย่าไปสนใจมันเลย!
ใน final version จอห์นเลือกการบันทึกเสียงที่ Abbey Road ในช่วง 4.37 นาทีแรก และการบันทึกเสียงจาก Trident ในช่วงที่เหลือของเพลง (ทำให้นึกถึงสิ่งที่เขาเคยทำไว้ใน Strawberry Fields Forever ในทำนองเดียวกัน) ช่วงท้ายเพลงที่จอห์นใส่ white noise อย่างเมามันสร้างความปวดเศียรให้พอลอย่างมาก Geoff Emerick เล่าว่าเขาเห็นพอลนั่งคอตกมองพื้น ไม่พูดอะไรสักคำ เขาไม่เข้าใจว่าจอห์นกำลังทำอะไรอยู่ เท่านั้นยังไม่พอ จอห์นยังสั่งให้"ตัด"เทปออกดื้อๆก่อนที่เพลงจะจบ 20 วินาที ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามันจะกลายเป็นการจบที่เวิร์คมากๆ จนจอห์นอยากจะให้มันเป็นเพลงจบในหน้าสองของ Abbey Road เลยด้วยซ้ำ (แต่ไม่มีใครเอาด้วย)
I Want You เป็นเพลงสุดท้ายที่ The Beatles ทั้งสี่คนร่วมบันทึกเสียงพร้อมกันในห้องอัด หลังจากวันที่ 20 สิงหาคม 1969 พวกเขาก็ไม่เคยร่วมงานด้วยกันที่เดียวกันเวลาเดียวกันอีกเลย